ไม่พบผลการค้นหา
'โบว์ ณัฎฐา' ชี้ ปรากฏการณ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ลาออก สะท้อนปัญหาระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ของ รธน.60 ทำให้ผู้สมัครคิดว่าทุกคะแนนคือผลงานของตัวเอง

น.ส.ณัฎฐา มหัทนา หรือ "โบว์" แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กกรณี อดีตผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ 120 คนลาออก ว่า "ปัญหาของอดีตผู้สมัคร ส.ส. กับพรรคการเมืองที่เป็นประเด็นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาภายใน การสื่อสาร ความคาดหวังต่อกัน หรือแม้แต่ความเข้าใจผิด หลายคนเพิ่งเคยเล่นการเมืองและคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆจะดูแลผู้สมัครทุกคน ซึ่งไม่จริง การเมืองคืองานอาสาที่ไร้ความมั่นคงในอาชีพ นอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่พรรคที่เหมือนเป็นพนักงานประจำของบริษัท

แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนปัญหาในระบบเลือกตั้งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย เมื่อ 1 กากบาทของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถูก “เหมา” ให้เป็นทั้งของคนและของพรรค ซึ่งถูกนำไปรวมกันเพื่อคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่อาจจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ว่ากากบาทนั้นเพราะอยากได้คน หรือชอบพรรค ผู้สมัครจึงมีสิทธิจะคิดว่าคะแนนนั้นคือผลงานของตน และมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของพรรคที่ถูกแปลเป็นที่นั่ง ส.ส. แต่ตนกลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานหลังจากนั้น

ความคิดนั้นอาจถูกหรือไม่ก็ได้ เช่นเดียวกับที่ผู้ลงคะแนนอาจเลือกกากบาทเพราะพรรคหรือตัวบุคคลก็ได้ แต่เราไม่อาจรู้ได้เลยในระบบการเลือกตั้งที่พิสดารแบบที่เป็นอยู่ และในบางกรณีปัญหาที่เกิดก็ส่งผลเป็นความอ่อนแอของภาคการเมือง ไม่ว่าจะมีการแสดงออกให้เห็นสู่สาธารณะหรือไม่ ไม่เป็นผลดีต่อประชาชน

"นี่เป็นเพียงหนึ่งในสถานการณ์ ที่สะท้อนปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ คสช." น.ส.ณัฏฐา ระบุ

อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) กำหนดให้บัตรเลือกตั้งมีเพียงใบเดียว ใช้เลือก ส.ส. เขต และนำคะแนนมาคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามสูตรเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใช้เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งใช้เลือกผู้แทนที่ทำงานในพื้นที่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลือก ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ชอบ ปัญหาของบัตรเลือกตั้งใบเดียวและการคำนวณด้วยสูตรใหม่นี้ ได้รับการวิจารณ์ว่า ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน เนื่องจากคะแนนที่นำมาคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มาจากการที่ประชาชนเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต ดังนั้น ทำให้แม้ผู้สมัครในบางเขตอาจจะไม่ชนะในเขตเลือกตั้งนั้นแต่คะแนนที่ได้จะถูกนำไปคิดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ หากพรรคใดได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวนมาก ก็จะมีโอกาสจะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง หรืออาจไม่ได้เลย