เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563 ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลได้เชิญตัวแทนประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 รวมถึงผู้ประกอบการจากจังหวัดภูเก็ตและระยอง เข้ามาพูดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ว่ามาตรการโควิดที่ทำให้เกิดความสำเร็จทางด้านสาธารณสุข แลกมากับการที่ทำให้ธุรกิจพวกเขาเดือดร้อนอย่างไรบ้าง และรัฐบาลควรมีมาตรการอย่างไรในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้
“ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก”
โดย น.ส. พรพรรณ เภตรารัตน์ ตัวแทนนักดนตรีอิสระจากจังหวัดระยอง ผู้เป็นกลุ่มอาชีพแรกๆ ในสังคมที่ได้รับการสั่งห้ามทำงาน และเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำงานได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันธุรกิจกลางคืนและแวดวงดนตรีก็ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ตนกำลังท้อง 5 เดือน และรายได้ช่วงนี้เป็นศูนย์ ตอนนี้อยู่ๆ ก็กำลังจะได้รับผลกระทบอีกครั้งเพราะอยู่ในจังหวัดระยอง ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตซ้อนกันหลายระลอก หนี้กำลังจะท่วมหัว ถือเป็นสถานการณ์ที่ “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก”
น.ส.พรพรรณ ชี้แจงว่าในวงการนี้ไม่ใช่แค่นักดนตรีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ยังมีแดนเซอร์ ยังมีคนทำอาหาร พนักงานเสิร์ฟ ทีมงาน backstage ช่างไฟ นักศึกษาพาร์ทไทม์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบ และหลายคนไม่เข้าเกณฑ์หรือตกหล่นที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่ส่งตัวเองเรียน
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้พูดคุยกับบางสถานศึกษา ทำให้ตนได้รับข้อมูลว่า นักศึกษาหลายคนไม่กลับมาเรียนในเทอมนี้ถึง 200 คน เพราะขาดรายได้ หลายคนทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหารและบาร์ ตนจึงเป็นตัวแทนคนเหล่านี้ ขอถามว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบชีวิตพวกเขาอย่างไร
ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ SMEs คือ บางรายได้ไปติดต่อธนาคารเพื่อขอกู้เงิน พยายามรักษาสภาพคล่อง พยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะรักษาธุรกิจของตนเองไว้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน แต่กลับได้ยินธนาคารพูดเองว่า “ต้องเป็นลูกค้าที่ได้รับเชิญเท่านั้น” ถึงจะเข้าถึงเงินกู้ก้อนนี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชั้นดีเท่านั้นที่ได้เข้าถึงเงินนี้ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้กำลังต้องการเงินกู้เลยด้วยซ้ำ
ก้าวไกล บี้ รบ.เยียวยา ไตรมาส 3
หนึ่งในข้อเสนอของก้าวไกลคือ ตอนนี้รัฐบาลควรรีบเร่งวางแผน จัดสรรนำเงินไปเยียวยาประชาชนไตรมาสที่ 3 เพราะเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้าย งบเยียวยา 5 พันบาทหมดลง แต่สภาพธุรกิจยังฝืดเหมือนเดิม หลายคนยังตกงาน การจัดสรรเงินเยียวยาครั้งนี้ควรจะดีกว่าครั้งแรกเพราะมีบทเรียนมาแล้ว ก้าวไกลคิดว่าควรเป็นการ “คัดออก” ไม่ใช่คัดคนเข้าอย่างที่ผ่านมา
เพราะมีผู้ตกหล่นจำนวนเยอะมาก รวมถึงประชาชนต้องคอยพิสูจน์ความจน แข่งกันว่าใครเดือดร้อนกว่ากัน นอกจากการจัดสรรเงินเยียวยาต่อแล้ว ก้าวไกลยังเสนอว่ารัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณไปช่วย SMEs ให้มากขึ้นโดยการเกาให้ถูกที่คัน ช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อให้ SMEs พยุงการจ้างงานต่อไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ กลุ่มแรก และกลุ่มที่ได้รับการคลายล็อกขั้นสุดท้าย ควรจะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐมากกว่าประชาชนทั่วไปด้วย
ทั้งนี้พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคฝ่ายค้านยังยืนยันมุ่งมั่นตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และมุ่งปกปักษ์รักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยากลำบากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิดเช่นนี้
อ่านเพิ่มเติม