น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่าเหมาะสมที่จะยกเลิกใช้สามารถเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ ว่า อาจเป็นการดำเนินการขั้นต่อไป หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงมีมติไม่ยกเลิกอย่างเด็ดขาด
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หามาตรการยกเลิกแล้วตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่าย เพื่อสรุปผลกระทบการใช้สารอย่างรอบด้าน โดยตนเป็นประธานคณะทำงาน ผู้แทนภาครัฐจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้บริโภค และผู้แทนผู้นำเข้า-ส่งออก ซึ่งจะประชุมพิจารณาผลกระทบจากการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด วันที่ 7 ต.ค. นี้ เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงเกษตรฯ โดยจะเปิดเผยผลประชุมต่อสาธารณะว่าฝ่ายใดมีความเห็นอย่างไร เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเมื่อตัวแทนภาครัฐไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วจะไม่มีการบิดพลิ้วไปจากข้อสรุปที่ได้
ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาสรุปแล้วเสนอให้นายกฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.สาธารณสุข, และ รมว.อุตสาหกรรมลงนาม จากนั้นจะนำเอกสารนี้ไปยื่นให้ถึงมือประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วยตัวเอง พร้อมนั่งรอเฝ้าอยู่หน้าห้องประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อรอฟังมติ ทั้งนี้ ขอให้ รมว.อุตสาหกรรมเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็ว รวมทั้งเปิดเผยการลงความเห็นของกรรมการทุกคน สังคมจะได้รับรู้ว่าใครเห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกและใครไม่เห็นด้วย
น.ส.มนัญญา กล่าวถึงกระแสข่าวบริษัทใหญ่ผู้นำเข้าสารเคมี 3 ชนิดนี้จะฟ้องศาลปกครองให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อชะลอการยกเลิกไปก่อน โดยมีวัตถุประสงค์จะระบายสารเคมีที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ว่า หากสารเคมีในสต็อกของเอกชนรายใดยังเหลือบอกมาเลยจะไปหาถึงที่และตรวจจับดำเนินคดีเพราะมีคำสั่งหยุดการนำเข้าตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ดังนั้น สต็อกจะต้องไม่มีแล้ว ถ้ายังมีอยู่แสดงว่าลักลอบนำเข้าเป็นการขนสารเคมีเข้ามาเกินจำนวนจากที่แจ้งไว้ในบัญชีอนุญาต
ทั้งนี้ จากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายล่าสุดที่ให้เวลากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 60 วันในการหาข้อมูลผลกระทบการเป็นพิษต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าเร่งทำให้เสร็จครบถ้วนวันจันทร์ที่ 7 ต.ค. นี้ ซึ่งจะสามารถส่งให้คณะกรรมการฯ ได้เลย ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รอบนี้รัดกุมและมากพอ เอกสารต่างๆ ครบ รายละเอียดสมบูรณ์ จากนี้จะได้มีเวลาไปทำเรื่องอื่นช่วยพัฒนาเกษตรกร เช่น โครงการนาข้าวอินทรีย์แปลงใหญ่ปลดหนี้ ยกระดับกลไกสหกรณ์การเกษตรให้เป็นแหล่งพัฒนาอาชีพเกษตรกรครบวงจรอย่างยั่งยืน