ไม่พบผลการค้นหา
พท.จัดเสวนาทวงอำนาจการบริหารท้องถิ่น โอดประเมินงบประมาณพลาดทำติดลบกว่า 20,000 ล้านบาท คาดไม่มีเงินจ่ายลูกจ้างอาจตกงานกว่าแสนคนในปีนี้

พรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นไทยภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธานเปิดงาน และเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย เป็นพิธีกรดำเนิกพารเสวนา ที่มีผู้ร่วมพูดคุยจากภาควิชาการและภาคการปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ โภคิน พลกุล รองหัวหน้าพรรค, รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายมหาชน, ชาตรี ศรีสันต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย, ไชยยศ ชัยพฤกษ์ นายกเทศมนตรี ต.อุ่มเมา จ.ร้อยเอ็ด และ กมธ.สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นประเทศไทย ปลัดเทศบาลตำบลสารภี จ.เชียงใหม่, และกัมพล กลั่นเนียม นายก อบต.ตาหลวง จ.ราชบุรี

โภคิน กล่าวเปิดงานเสวนาว่า ปัญหาเรื่องท้องถิ่นเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศหลังจากการรัฐประหาร การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องยาก และยังมีการใช้อำนาจควบคุมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นโดยไม่ถูกกฎหมาย ตนเคยทำงานวิจัยสมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเมื่อ 20 ปีก่อน พบว่า คนไทยถูกทำให้คิดว่า อะไรจะดีขึ้นก็ตั้งกระทรวงนั้น ทุกอย่างต้องพึ่งระบบราชการแล้วมันจะดี แต่ตนพยายามต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ ตนได้ทำงานในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเรื่องการกระจายอำนาจและเชิญตัวแทนจากส่วนท้องถิ่นเข้ามาชี้แจง ได้เห็นว่าระบบอำนาจนิยมและรัฐราชการ ทำให้ราชการหลายคนคิดว่าทุกอย่างต้องเข้ามาหาตัว 

คนในท้องถิ่นเรียกผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น นายอำเภอ ว่า 'นาย' เป็นวิธีคิดที่ทำให้อีกหลายอย่างไปต่อไม่ได้ ประชาชนต้องเจอกับอุปสรรค 2 ชั้นคือรัฐราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และคนเหล่านี้ก็มีความสุขกับการที่ทุกคนวิ่งเข้ามาหา และราชการเหล่านั้นแต่ละหน่วยงานก็ถือกฎหมายคนละฉบับ และทำงานแบบต่างคนต่างอยู่ แต่ประชาชนเป็นฝ่ายที่เหนื่อย หลายคนบอกว่าท้งอถิ่นจะดีต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มองว่าประเด็นไม่ใช่ตรงนั้น การจัดตั้งองค์กรที่เคยทำมาในอดีตก็ไม่ได้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ต้องมีงบประมาณ ตนเห็นว่าต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ให้ท้องถิ่นมีงบประมาณ 30% เพราะคนหวงอำนาจ เขาหวงเงินและหวงบุคลากรด้วย ดังนั้นแม้จะมีองค์กรหรือมีการเลือกตั้งแต่ไม่มีงบประมาณก็ทำงานไม่ได้ ดังนั้นเราต้องปลดปล่อยประชาชนและทำให้เขาเข้มแข็ง (Liberate and Empower) 

นอกจากนี้ โภคิน ยังกล่าวว่า ได้แลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ พวกเขาเห็นว่า ระบบเผด็จการกับรัฐราชการจะทำให้ประเทศล่มจม นักการเมืองหลายคนบอกว่าทำโน่นนี่ แต่เป็นเพียงแค่วาทกรรม เพราะไม่มีใครทำจริงๆ แม้ว่าทุกวันนี้จะเป็นโลกยุค 4.0 แต่การเปิดร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจสุจริตต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนกว่าจะทำได้ ขณะคนที่เปิดบ่อนหรือทำธุรกิจไม่สุจริต จ่ายส่วยเปิดได้เลย ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐราชการ อีกทั้งการคิดแบบเดิมใช้จ่ายแบบเดิมในขณะที่งบประมาณของประเทศน้อยลง เศรษฐกิจถดถอย การคาดการณ์ GDP ผิดไปจากความเป็นจริง เงินที่รัฐบาลกู้มาก็กลายเป็นภาระให้กับท้องถิ่น 

ดังนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ไม่ใช่เปลี่ยนจากข้างบน การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้การบริหารท้องถิ่นมีอิสระในการดูแลตัวเอง ให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งประชาชนสั่งสมประสบการณ์มาจนเข้าใจแล้วว่า วันนี้ทำไมบ้านเมืองถึงไปต่อไม่ได้ เชื่อว่าไม่มีทางที่รัฐราชการจะปลดปล่อยอำนาจ แต่ถ้าประชาชนเข้มแข็งรัฐจะยอมถอยเอง

รศ.ยุทธพร กล่าวว่า ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2559-2561 มากขึ้น แรงงานส่วนใหญ่ในภาคการเกษตรคือแรงงานนอกระบบ ไม่มีระบบการคุ้มครองสังคม ประเทศไทยลงทุนเรื่องนี้เพียง 3.7% ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการภาครัฐหลายอย่างก็ยังเป็นแบบอนุรักษ์นิยม การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขยังไม่สามารถเข้าถึงปัญหา มีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ คนที่ตัดสินใจในนโยบายไม่ใช่คนทมี่อยู่กับปัญหา 

ดังนั้นหากไม่มีการกระจายอำนาจประเทศก็อาจจะไปสู่ทางตันได้ ตนเห็นว่าต้องมีการกระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงทุน การศึกษา และสื่อเพื่อเป็นกระบอกเสียง แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างผูกติดอยู่กับอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเช่น การออกมาเรียกร้องของนักเรียน หรือในช่วงเวลาวิกฤติน้ำท่วมที่สื่อรายงานแต่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก และให้ความสำคัญกับสถานการณ์ต่างจังหวัดน้อยกว่า โดยปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในวันนี้ ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมากว่า 20 ฉบับ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการของกฎหมายฉบับนี้, รัฐราชการที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังทำให้เกิดการถดถอยของการกระจายอำนาจ ดึงอำนาจท้องถิ่นกลับเข้าสู่ส่วนกลางผ่านกฎหมายต่างๆ, มีการกดทับความคิดและการผลิตซ้ำมายาคติบางอย่าง เช่น ท้องถิ่นไร้ประสิทธิภาพ มีการทุจริต และความรุนแรง ทำให้ท้องถิ่นถูกปิดกั้นและเอามายาคติเหล่านี้มาหยุดการกระจายอำนาจ 

ทั้งที่การทุจริตในการปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพียงแค่ 5% แต่เพียงมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเยอะจึงกลายเป็นตัวเลขหลอกที่ทำให้เห็นว่ามีการทุจริตเยอะตามไปด้วย เราจะเห็นว่าท้องถิ่นมีการกระจายหน้าที่ แต่ไม่มีการกระจายอำนาจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็จึงถูกปิดกั้นกดทับตามมาด้วย ทางแก้คือการยกระดับท้องถิ่น เริ่มจากเศรษฐกิจและสร้างนวัตกรรม การกำหนดอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งต้องให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง โดยเรียกร้องให้มีเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการ และเปลี่ยนแปลงกลไกการตรวจสอบส่วนท้องถิ่น

ไชยยศ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความจริงจังในการกระจายอำนาจและการกระจายงบประมาณ เงินอุดหนุนที่เหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้จ่ายโดยอิสระ เช่น โครงการที่ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทำ แต่ให้อำเภอเป็นคนจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น ทุกวันนี้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเงินหายไป 50,000 ล้านบาท เกิดจากคำสั่งของรัฐบาลให้ลดการเก็บภาษี หลายองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นงบประมาณหายไปหลายสิบล้านบาท โครงการที่เขียนไว้ก็ไม่ได้ดำเนินการ เพราะรายได้ที่รัฐประเมินไว้ติดลบ เราวางยุทธศาสตร์ไว้สวยหรู แต่ไม่มีรายได้มาดำเนินการ หลายคนบอกให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีเอง แต่รัฐบาลมีคำสั่งให้ลดภาษีแต่ก็ไม่มีงบประมาณอื่นมาทดแทน 

ขณะเดียวกันรัฐบาลมีแนวนโยบายในการจ้างคนตกงานให้มีงานทำ โดยการเปิดสอบและอัดคนลงไปในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการโอนย้ายก็ต้องมีค่าเช่าบ้าน ค่าโอนย้าย แล้วจะเอาเม็ดเงินที่ไหนมาจ่ายตรงส่วนนี้ แต่คนงานและพนักงานจ้างกำลังจะตกงานอีก 100,000 คน ทั่วประเทศ หากไม่มีการชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่น รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563-2564 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดเก็บได้จะติดลบ 29,322 ล้านบาท อีกทั้งกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอีก 2,647 ล้านบาท แต่เงินส่วนนี้กลับไม่ได้ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปจัดการโดยอิสระ ตรงกันข้ามคือการโยกงบประมาณส่วนท้องถิ่นไปใช้ในส่วนกลาง ขอเรียกร้องให้รัฐเร่งหาเงินชดเชยงบประมาณที่ติดลบ เพื่อให้ทิอ้งถิ่นมีงบประมาณในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเอง

ขณะที่ชาตรี มีความเห็นว่าหากมีการพัฒนาและกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจะทำให้ลดภาระของส่วนการในการรับเรื่องราวร้องเรียน เพราะภาคการปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะสามารถจัดการปัญหากันเองได้ เช่นเดียวกับพิพัฒน์ ที่ต้องการให้ภาครัฐรับฟังปัญหาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เข้าใจปัญหาและหาแนวทางขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน และกำพล ยืนยันว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดนโยบายของตนเอง โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ คน เงิน และภารกิจ  

ในช่วงท้ายชวลิต กล่าวว่า ตอนนี้หลายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มเอาเงินสะสมมาใช้เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ และรัฐบาลไม่มีทีท่าว่าจะหาเงินมาชดเชยรายได้ที่หายไปได้ พร้อมตั้งคำถามต่อไปว่าหลังนี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำอย่างไรไม่ให้รัฐที่ถังแตกจะทำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นถังแตกไปด้วย