ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐกิจโลกเสียหายจากมลพิษที่เกิดจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน ราว 8,000 ล้านดอลลาร์ต่อวัน และทำให้คนตายก่อนวัยอันควรจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็ก

รายงานของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด ระบุว่า มลพิษทางอากาศที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและน้ำมัน สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 250,000 ล้านบาท) ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีโลก

นอกจากนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 4.5 ล้านรายต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก 3 เท่า และเด็กที่เสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี โดยมีสาเหตุมาจากมลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีจำนวนประมาณ 40,000 คนต่อปี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในประเทศรายได้ต่ำ และทำให้มีเด็กคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 ล้านคนต่อปี

ซันมินอู นักรณรงค์เรื่องอากาศสะอาดของกรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของเรา ทุกปี มลพิษทางอากาศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้คนหลายล้านเสียชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดอุดตัน มะเร็งปอด และหอบหืด อีกทั้งยังทำให้ต้องเสียเงินหลายล้านล้านดอลลาร์

รายงานฉบับนี้ได้ศึกษาและวิเคราะห์ชุดข้อมูลเกีี่ยวกับมลพิษที่พบมากบนพื้นผิวโลก ทั้งฝุ่น PM2.5 โอโซน และไนโตรเจนไดออกไซด์ เพื่อคำนวณผลกระทบต่อสุขภาพและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ตามมาในปี 2018

การศึกษานี้พบว่า ไนโตรเจนไดออกไซด์จากน้ำมัน เคร่ืองยนต์ดีเซล โรงไฟฟ้าและโรงงานต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับโรคหอบหืดในเด็กรายใหม่กว่า 4 ล้านคนทุกปี คิดเป็นประมาณ 16 ล้านคนที่เป็นโรคหอบหืดจากมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ส่วนฝุ่นขนาดจิ๋ว PM2.5 ก็มีส่วนทำให้มีคนลาป่วยรวมกันประมาณ 1,800 ล้านวันต่อปี ซึ่งมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 101,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และการสูดฝุ่น PM2.5 และโอโซนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีกรณีผู้ป่วยหอบหืดเข้าห้องฉุกเฉินประมาณ 7.7 ล้านครั้งต่อปี

จีน สหรัฐฯ และอินเดียจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดจากมลพิษทางอากาศ คิดเป็นมูลค่า 900,000 ล้านดอลลาร์, 600,000 ล้านดอลลาร์ และ 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตามลำดับ

การศึกษานี้ยังโต้แย้งด้วยว่า ทางแก้ไขวิกฤตมลพิษทางอากาศชัดเจนมาก นั่นคือการหันไปใช้พลังงานสะอาดและปฏิรูประบบการขนส่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ อีกทั้งยังจะช่วยแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วย

หน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนไปในกฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐฯ จะได้ผลตอบแทนคืนมาอย่างน้อย 30 ดอลลาร์ เช่นเดียวกับการลงทุน 1 ดอลลาร์ในแคมเปญวันงดใช้รถยนต์ประจำสัปดาห์ในกรุงโบโกตาของโคลอมเบียจะได้ผลตอบแทนด้านสุขภาพคิดเป็นมูลค่า 4 ดอลลาร์

ซันมินอูกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาที่เรารู้วิธีแก้ไขอยู่แล้ว ด้วยการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้รถยนต์ดีเซลและเบนซิน รวมถึงสร้างขนส่งสาธารณะ เราต้องมาพิจารณาค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ใช่แค่ผลกระทบที่ทำให้โลกร้อนขึ้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพด้วย

ที่มา : Greanpeace , The Guardian