ตลอด 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวไปแล้วกว่า 7.33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นเงิน 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแปลงได้เป็นเงิน 5.3 ล้านล้านบาท
เมื่อเทียบข้อมูลรายเดือน กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้ เมื่อ 3 พ.ย.ว่า ระดับการส่งออกสินค้าของประเทศทางทะเลกลับมาปรับตัวดีขึ้น จากจุดต่ำสุดในเดือน พ.ค.ที่ระดับติดลบ 22.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขึ้นมาอยู่ที่ระดับติดลบ 3.86% สะท้อนชัดว่าผู้ประกอบการมีความต้องการใช้ 'ตู้คอนเทนเนอร์' เพื่อขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อกำลังซื้อโลกกลับมาดีขึ้น แต่ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่เมื่อตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้ามีไม่เพียงพอ โดยข้อมูลจาก สรท.พบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าตู้เปล่าลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ส.ค. 2563 ระบุ ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่นำเข้ามายังประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 91,117 ทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ซึ่งคิดเป็นจำนวนที่ลดลงถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เท่านั้นยังไม่พอ จำนวนตู้เปล่าที่ไม่เพียงพอ ยังส่งให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเลือกคุณภาพตู้เปล่าที่มีคุณภาพมากพอกับการขนส่งสินค้า จึงส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกทั้งฝั่งคุณภาพและต้นทุนการดำเนินการ
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ ship-technology เมื่อประเมินขนาดบริษัทขนส่งของโลกผ่านตู้ขนส่งสินค้าขนาด 20 ฟุต Maersk (เมอส์ก) นับเป็นบริษัทใหญ่ที่สุด ด้วยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ถึง 4.1 ล้านทีอียู ตามมาด้วย Mediterranean Shipping Company (MSC) ด้วยขนาด 3.8 ล้านทีอียู
ล่าสุดบัญชีทวิตเตอร์ของ Maersk ระบุว่า หลังจากบริษัทได้ตรวจสอบข้อมูล ตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ใช้ขวางเส้นทางชุมนุมบริเวณสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ตู้ของบริษัทเพราะถูกขายสู่ตลาดเสรีไปแล้ว