ซอมเบอร์ ปีเตอร์ แห่งสำนักข่าว VOA สื่อสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ 2019 a False Dawn for Democracy in Thailand, Analysts Say เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงบทสัมภาษณ์นักวิชาการ รวมถึงโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสะท้อนภาพการเมืองไทยในช่วงปีที่ผ่านมา
เนื้อหาในตอนหนึ่งระบุว่า คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว หลังจากมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีเมื่อเดือนมีนาคม และเวลาผ่านไปกว่า 9 เดือนหลังเลือกตั้ง คณะรัฐประหารบอกว่ามี 'จุดเปลี่ยนที่สำคัญ' แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงเรื่องผิดปกติที่เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะนายทหารยังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย โดยบทความระบุว่า "พวกเขาแค่เปลี่ยนเครื่องแบบไปสวมสูทเท่านั้น" ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกว่า 'รุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตย' เป็นเรื่องหลอกลวง
ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับ VOA ว่า ชนชั้นนำกลุ่มเดิมยังอยู่ในอำนาจ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงเป็นรัฐบาลทหารในอีกแบบหนึ่งเท่านั้น และการปล่อยให้ประเทศอยู่ในสภาวะแบบนี้ต่อไปจะยิ่งส่งผลร้ายกว่าเดิม เพราะมีความพยายามจะสะท้อนภาพลักษณ์ประเทศว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นภาพมายาให้ไทยสานสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกต่อไปได้ ทั้งที่เครือข่ายกองทัพยังคงอยู่ และพยายามใช้กระบวนการทางกฎหมายควบคุมทุกอย่าง
บทความของ VOA อ้างอิงความเห็นของ ดร.ฐิติพลเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารเป็นผู้เขียนขึ้นหลังรัฐประหาร จึงมีเงื่อนไขสกัดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ต่อต้านการใช้อำนาจของทหารในสนามเลือกตั้ง ซึ่งถ้าจะพูดให้ชัดก็หมายถึง 'พรรคเพื่อไทย' เห็นได้จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปลี่ยนมาใช้สูตรคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบใหม่ เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองที่หนุนคณะรัฐประหารทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดเป็นเสียงข้างมากในสภา
เจมส์ บิวคาแนน นักวิจัยเรื่องการเมืองไทยในมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้สัมภาษณ์ VOA ว่า นอกจากการปรับเปลี่ยนกฎหรือเงื่อนไขในการเลือกตั้งให้แตกต่างจากเดิมแล้ว คณะรัฐประหารยังปรับเปลี่ยนคำสั่งต่างๆ ที่เคยบังคับใช้ในช่วงก่อนเลือกตั้งให้กลายเป็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้กฎหมายถูกนำมาใช้เป็น 'อาวุธ' สกัดคนที่เห็นต่างหรือต่อต้านรัฐบาล
ตัวอย่างที่สำคัญในทัศนะของบิวคาแนน ได้แก่ การที่คณะรัฐประหารมีอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คนมาดำรงตำแหน่ง ทั้งยังกำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้งมีอำนาจในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วย และ ส.ว.เหล่านี้ก็ออกเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐประหาร ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรัฐประหารปี 2557 ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจทางกฎหมายจับกุมและลงโทษผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหาร เช่น การตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น และเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองต้องอพยพลี้ภัยจำนวนมาก แต่มีรายงานว่านักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหารไทยหายตัวไปหลังจากทางการเวียดนามส่งตัวกลับมาในปีนี้ แต่ก็ไม่อาจติดตามได้ว่า นักกิจกรรมเหล่านี้มีชะตากรรมอย่างไร
ขณะเดียวกัน เอมิลี่ ประดิจิต ผู้ก่อตั้งมูลนิธิมานุษยะ เปิดเผยกับ VOA ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามกำหนดกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์ต่อเครือข่ายคณะรัฐประหาร ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การนำของคนกลุ่มเดิมที่เคยอยู่ในอำนาจมาตลอด 5 ปี ทั้งยังพยายามใช้ข้อหา 'เฟกนิวส์' หรือ 'ข่าวปลอม' โจมตีผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล ทำให้ผู้เผยแพร่ข้อมูลเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมักจะถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือไม่ก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท
เอมิลี่ระบุว่า รัฐบาลไทยพยายามแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลประชาธิปไตย มีการเลิกใช้กฎหมายที่ถูกทักท้วงจากประชาคมโลก แต่ในความเป็นจริงมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ส่งผลต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสื่อออนไลน์หนักกว่าเดิม เช่น พ.ร.บ.ไซเบอร์ ทำให้มีความกังวลว่า สถานการณ์ต่างๆ ในไทยอาจแย่ลงกว่าเดิม ถึงขั้นเข้าสู่ยุคแห่ง 'เผด็จการดิจิทัล'
VOA รายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม 'ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์' โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความเห็นต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อรัฐบาล แต่โฆษกฯ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ล้มเหลวในการฟื้นฟูประชาธิปไตย เพราะไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โฆษกไม่ขอตอบคำถามและไม่ขอชี้แจงอะไรเพิ่มเติมเมื่อ VOA ขอให้ช่วยระบุตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า ไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ทั้งยังปฏิเสธข้อสังเกตที่ระบุว่า กกต.เปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หลังจากที่ผลคะแนนถูกส่งเข้าไปยังส่วนกลางแล้ว รวมถึงไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ และกรณีที่หน่วยงานรัฐ รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ เกี่ยวข้องกับการตั้งข้อหาแกนนำพรรคอนาคตใหม่
ทั้งนี้ โฆษกสำนักนายกฯ ระบุเพียงว่า เรื่องที่ VOA สอบถามนั้น "ไม่เป็นความจริง" และวางสายไป
ช่วงที่ VOA นำเสนอภาพการเมืองไทยในปี 2019 เว็บไซต์ Global Voices ได้รายงานสถานการณ์การด้านสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อ้างอิงข้อมูลที่นำเสนอในเทศกาลวิชาการและสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 10 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยถือเป็นความร่วมมือระหว่างคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กับ 'เดอะอีสานเรคคอร์ด' และหน่วยงานเครือข่าย
ภายในงานมีการเสวนาด้านสิทธิมนุษยชน และตัวแทนประชาชนอีสานที่เข้าร่วมพูดคุยระบุว่า ที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยมักถูกนำเสนอผ่านสื่อหรือตัวแทนประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนนอกพื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก แต่ช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศกว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงภาคอีสาน ถูกจับกุมและดำเนินคดีกว่า 28,000 คดีที่เกี่ยวกับนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' ของรัฐบาลทหาร ซึ่งหลายกรณีเกิดจากการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ดินทำกินของประชาชน
ในการเสวนามีผู้แย้งว่า บางกรณีรัฐบาลทหารไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดหรือละเมิดสิทธิชุมชนในคดีที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ซึ่ง ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี หนึ่งในผู้ร่วมพูดคุย ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ก็มองว่า รัฐบาลเองก็ไม่ได้จริงจังในการแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือประชาชน
ผศ.ดร.อรุณี ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลเลือกทำเป็นอันดับแรกเมื่อเกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินและสิ่งแวดล้อม คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ต่างจากการ 'ซื้อเวลา' เพราะในที่สุดข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งให้รับผิดชอบดูแลเรื่องดังกล่าวก็จะถูกโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นตามวาระ และเรื่องทั้งหมดที่ทำมาก็หยุดชะงัก หรือไม่ก็ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่า ไม่มีความหวังใดๆ เกิดขึ้นจริง
ที่มา: Global Voices/ VOA