"สรัสนันท์" ชี้ มาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" กละ "มาตรการให้กำลังใจ" ช่องโหว่เพียบ ไม่ช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อย เอื้อทุนใหญ่ และส่อทุจริต
น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึง กรณีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย. 2563 เรื่องผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ของกระทรวงการท่องเที่ยว วงเงิน 22,400 ล้านบาท แบ่งเป็น สองโครงการ คือ 1.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (20,000 ล้าน บาท) 2. โครงการกำลังใจ (2,400 ล้านบาท)
โดยทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว และการจ้างงาน
น.ส.สรัสนันท์ เปิดเผยว่า ในการประชุมกรรมาธิการ ซึ่งได้เรียกหลายหน่วยงานมาพูดคุย ได้แสดงความกังวลในทิศทางเดียวกันต่อมาตรการที่กำลังจะออกมา โดยมีข้อสังเกตการณ์ดังนี้
- โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เงื่อนไขนโยบายที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ลดขีดการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการโรงแรมกว่าร้อยละ 90 เข้าไม่ถึงโครงการ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น โรงแรมขนาดเล็ก โฮมสเตย์ กลุ่มบูติคโฮเทล โฮสเทล ห้องเช่ารายวัน เอื้อต่อทุนกลุ่มใหญ่ เพราะเพดาน 3,000 บาท ต่อคืน หมายถึงการเปิดโอกาสให้ห้องพักที่มีมูลค่าสูงถึง 7,500 บาท ได้สิทธิ์ โดยเงินส่วนใหญ่จะไปกระจุกที่โรงแรมกลุ่ม luxury สี่ดาวและห้าดาว ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มบริษัทเจ้าใหญ่และเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ โรงแรมใหญ่ ห้องเยอะ ยิ่งมีสิทธิ์ได้สัดส่วนเงินเยอะ เข้าข่าย "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" 2,000 ล้านบาท ที่ล็อคไว้ให้สายการบินเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ผ่านระบบเป๋าตัง กีดกันกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอย่างทั่วถึง นโยบายนี้ยังไม่มีกลไกป้องกันทุจริตและการจัดการช่อโหว่ที่อาจเอื้อต่อกลุ่มคนคิดไม่ซื่อ
- โครงการกำลังใจ ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตอบโจทย์ ทั้งการ “ให้กำลังใจ” เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโดยรวม งบประมาณครึ่งกลาง จัดสรรวงเงินให้ อสม. เพียงคนละ 2,000 บาท ในรูปแบบทัวร์ 2วัน 1คืน ซึ่งในทางปฎิบัติจะเพิ่มภาระให้อาสาสมัครต้องออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเอง ส่วนผู้ประกอบการทัวร์ต้องแบกต้นทุนที่ได้กำไรต่ำ ส่งผลให้ได้ทัวร์คุณภาพต่ำ เช่น การจัดที่พักนอนรวมในห้องเล็ก หรือ การได้เพียงข้าวกล่องต่อมื้อ ซึ่งนโยบายนี้ยากที่จะกำกับดูแลคุณภาพที่เหมาะสม ให้สิทธิที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (เช่น การไม่ประสงค์ท่องเที่ยว, อายุมาก) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่เข้าร่วมไม่เกินร้อยละ 40 ของกลุ่มเป้าหมายจากสิทธิที่มอบให้ อสม. 1.2 ล้านคน ทั่วประเทศ ส่อทุจริต ล็อกสเปกผู้ประกอบการโดยต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับส่วนกลางในการรับงาน มีการเรียกเก็บบัตรประชาชน อสม. เพื่อรับงาน แต่ไม่มีการท่องเที่ยวจริง เจตนารมณ์ที่อยากตอบแทนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อาสาสมัครนั้น ไม่ควรนำมาผูกกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ยากต่อการจัดแจงและไม่เห็นผลชี้วัด ควรแจกจ่ายในรูปแบบอื่น เช่น การเพิ่มเบี้ยเลี้ยง ซึ่งจะสามารถกระจายเม็ดเงินไปทั่วประเทศ ได้ผลโดยตรงต่อการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาความเดือดร้อน และตรงต่อความต้องการของกลุ่ม อสม.
แม้นโยบายทั้งสองโครงการมีเจตนารมณ์ดีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่ในแง่การออกแบบนโยบายยังไม่ผ่าน เพราะรัฐบาลยังไม่เข้าใจปัญหาความซับซ้อนของโครงสร้างเศรษฐกิจ วิธีการปฏิบัติหรือเงื่อนไขต่างๆยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันได้ โครงสร้างภาคธุรกิจประกอบไปด้วยผู้ประกอบการรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสและกำลังจะตาย ยังคงถูกมองข้าม ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม