ไม่พบผลการค้นหา
ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือนก.ค. มีจำนวน 1,140 ราย ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มี 1,261 ราย แต่เพิ่มขึ้น 9% จากเดือนมิ.ย. ที่มี 1,048 ราย

ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน ก.ค.2564 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ 5,661 ราย ลดลง 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 5,667 ราย และลดลง 7% จากเดือน มิ.ย. 2564 ที่มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 6,093 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 13,543.18 ล้านบาท

สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 593 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 240 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร 231 ราย คิดเป็น 4%

ส่วนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือนก.ค. มีจำนวน 1,140 ราย ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มี 1,261 ราย แต่เพิ่มขึ้น 9% จากเดือนมิ.ย. ที่มี 1,048 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 4,152.42 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 97 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 65 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 35 ราย คิดเป็น 3%

ส่งผลให้มีธุรกิจเปิดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ก.ค. 2564) จำนวน 807,283 ราย มูลค่าทุน 19.66 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 197,348 ราย คิดเป็น 24.45% บริษัทจำกัด 608,629 ราย คิดเป็น 75.39% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,306 ราย คิดเป็น 0.16%

DownloadFile.jpg

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจนั้น มีผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การหยุดการก่อสร้าง การงดรับประทานอาหารในร้านอาหาร และมาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เมื่อพิจารณาการลดลงของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเดือนก.ค.2564 พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในแต่ละภาคธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร โดยแนวโน้มที่ลดลงดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 41.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 10%

"สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจที่มีการชะลอตัวเพื่อติดตามสถานการณ์อยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เริ่มลดลง และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอจะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งการฟื้นตัวของการส่งออก และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง" ทศพลระบุ