ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์ ‘รัฐประหาร’ ในเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายน์ ผบ.ทหารสูงสุดเมียนมา สะเทือนถึงไทย เพราะมี ‘โมเดล-ไทม์ไลน์’ คล้ายกับเหตุการณ์รัฐประหารของไทยเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น และขึ้นเป็น หัวหน้า คสช.

พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ มีความใกล้ชิดกับ ‘บิ๊กทหารไทย’ เมื่อครั้งขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดเมียนมา เมื่อปี 2554 ได้เยือนไทยหลายครั้งนับจากนั้น แต่เหตุการณ์สำคัญคือการเยือนไทยในปี2555 ที่ทำให้ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ มีฐานะเป็น ‘ลูกป๋าต่างแดน-บุตรบุญธรรม’ หลังได้เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในขณะนั้น เพราะได้พูดคุยกันอย่างถูกคอ จึงขอเป็น ‘บุตรบุญธรรม’ พล.อ.เปรม ด้วยเหตุผลบิดาของ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ เสียชีวิตเมื่อปี2545 และมีอายุมากกว่า พล.อ.เปรม 1 ปี

ทั้งนี้ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ ได้เยือนไทยครั้งล่าสุดเพื่อแสดงความอาลัยต่อ พล.อ.เปรม หลังถึงแก่อสัญกรรม โดยได้ลงนามไว้อาลัยที่ทำเนียบองคมนตรี ก่อนมาเคารพศพ พล.อ.เปรม ที่วัดเบญจมบพิตรฯ โดย พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ ได้เผยถึงคำสอนที่ พล.อ.เปรม โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง-ประชาธิปไตยด้วย

“ทางด้านการเมือง ก็จะพูดถึงประชาธิปไตย ก็จะต้องเป็นประชาธิปไตยของประเทศของตนเอง หรือประเทศใครประเทศคนนั้นให้เหมาะสมกับประเทศตนเอง และสิ่งที่ พล.อ.เปรม พูดอยู่เสมอว่า เราเกิดในแผ่นดินนี้ เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถ้าใครไม่ตอบแทนคุณแผ่นดิน คนนั้นถือว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ” พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายน์ กล่าว 31พ.ค.62

สำหรับ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ เป็นชาวทวาย เคยเรียนกฎหมาย ม.ย่างกุ้ง ก่อนเปลี่ยนมาสอบเข้า ร.ร.เตรียมทหาร เคยดำรงตำแหน่ง อดีตผู้บัญชาการรัฐมอญ อดีตผู้บัญชาการกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน อดีตผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง อดีตเสนาธิการร่วมกองทัพพม่า โดยมี ‘มาดาม จู่จู่ฮละ’ เป็นภรรยา ที่ออกงานด้วยกันอยู่เสมอ

เมียนมา ม็อบ สถานทูต รัฐประหาร  อองซานซูจี พม่า7.jpg

ทั้งนี้ภายหลังการทำรัฐประหาร พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี จึงมีการนำมาเปรียบเปรยกับเหตุการณ์รัฐประหารในไทยว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ หลัง คสช. ก็เคยประกาศไทม์ไลน์อยู่ไม่นาน แต่สุดท้ายก็อยู่ยาวมา 5 ปี ผ่านการยื้อเวลาร่าง รธน.ฉบับใหม่ และตั้งพรรคทหารขึ้นมาเพื่อ ‘สืบทอดอำนาจ’ เมื่อพร้อมแล้วจึงจัดให้มี ‘การเลือกตั้ง’ ที่มาพร้อมข้อครหาต่างๆ จากอิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ 2560

ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมา เผยแพร่ภาพ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมากล่าวในที่ประชุมคณะรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อ 2ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า กองทัพเมียนมาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยึดอำนาจ โดยให้เหตุผลว่า กองทัพได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งไปยังรัฐบาลหลายครั้งแล้ว แต่ก็ถูกเพิกเฉย

“การรัฐประหารที่เกิดขึ้น เป็นไปตามการเรียกร้องของหลายฝ่าย และเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ระบุว่าจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรมขึ้นใหม่อีกครั้ง และจะส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะผลการเลือกตั้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่แน่นอน 

แน่นอนว่ารัฐประหารที่เมียนมาสะเทือนถึงไทย เพราะเปรียบเป็นการ ‘จี้ปม-แทงใจดำ’ ต่อ ‘ผู้มีอำนาจ’ ของไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ที่อยู่มาตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่งทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายน์ ได้พบปะกันหลายโอกาส ทำให้ท่าทีของรัฐบาลไทยนิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและประกาศยึดตามอาเซียน โดยระบุว่าเป็นเรื่องภายในของเมียนมา และจะไม่แทรกแซงกัน แน่นอนว่าหากพูดมากเกินไปอาจ ‘เข้าตัว’ ได้

มินอ่องหลายน์-เมียมา

ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เมียนมาสะเทือนมาถึงไทย นำมาสู่การขยับการเคลื่อนไหวในไทยด้วย เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารในเมียนมา ที่เปรียบเป็นการ ‘ตีวัวกระทบคราด’ หนึ่งในกลุ่มที่เคลื่อนไหว คือ ‘กลุ่มวีโว่’ นำโดย ‘โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ’ โดย ‘โตโต้’ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กลุ่มวีโว่ทำเพื่อต้องการปกป้องแนวหลังที่เป็นประชาชน ทั้งชาวไทยและเมียนมา 

นอกจากนี้ ‘วงสามัญชน’ ได้ส่งกำลังใจถึงชาวเมียนมา โดยได้เขียนเพลง ‘เราคือเพื่อนกัน’ ท่อนหนึ่ง โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และภาษาเมียนมา รวมทั้งการเคลื่อนไหวของ ‘คณะก้าวหน้า’ นำโดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า และ ‘ช่อ-พรรณิการ์ วานิช’แกนนำคณะก้าวหน้า ที่ไปร่วมสังเกตุการณ์ชุมนุมที่หน้าสถานทูตเมียนมาด้วย

แน่นอนว่ารัฐประหาร ที่เกิดในเมียนมา ถูกนำมาเปรียบเทียบกับไทยว่าเป็น ‘ไทยโมเดล’ หรือไม่ ?

โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ก็โนคอมเมนต์ โดยกล่าวว่า “ผมไม่มีความเห็น” พร้อมย้ำว่าในหัวของตนไม่มีคำว่า ‘รัฐประหาร’ หลังสื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เมียนมา

“ผมไม่มีความรู้สึก ผมบอกแล้ว คำนี้ไม่มีในหัวผม ไม่มีมานานแล้ว จะเห็นว่ามันหายไปนานแล้ว เพียงแต่พวกเราไปอยู่ในวอร์ตรงนู้น แล้วเอาพูดคำนี้ขึ้นมา ผมไม่มีอยู่แล้ว” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า กองทัพยึดจุดยืนตามรัฐบาลและอาเซียน โดยทหารจะคุยกันแค่เรื่องทหารเท่านั้น ไม่มีการคุยเรื่องการเมือง พร้อมย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพยังคงเดิม

ณรงค์พันธ์.jpg

อย่างไรก็ตามกระแสต่อต้านรัฐประหาร ในเมียนมาได้เกิดขึ้น หนึ่งในนั่นคือการ ‘ชูสามนิ้ว’ เหมือนกับไทย เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘สามนิ้วโดมิโน่’ โดยมีดารานักแสดงเมียนมา ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน อีกทั้งมีการนัดหมายเคาะภาชนะ บีบแตรรถยาว เพื่อต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา 

ทั้งนี้การชูสามนิ้ว เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี2014 โดยนำมาจากภาพยนตร์เรื่องฮังเกอร์เกม โดยมี ‘ไผ่ ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ และ ‘นัช-นัชชชา กองอุดม’ เป็นผู้ชูสามนิ้ว เพื่อต่อต้าน คสช. ในยุคแรกๆ จนมาแพร่หลายในการชุมนุม และเป็นสัญลักษณ์ของการ ‘ปลดแอก’

เมียนมา ม็อบ สถานทูต รัฐประหาร พม่า4.jpg

มีการทำป้ายและข้อความต่อต้าน โดยเรียกว่า ‘อารยะขัดยืน’ รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัว ‘อองซาน ซูจี’ ที่เปรียบเป็น ‘แม่’ ของชาวเมียนมาด้วย ซึ่งภาพการต่อต้าน ไม่ต่างจาก ‘กลุ่มปลดแอก-ราษฎร’ ของไทย ในการต่อสู้กับ ‘ระบอบอำนาจนิยม-เผด็จการทหาร’ ที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังเผชิญ

ทว่าในอีกด้านก็มีการชุมนุมของ ‘คนหนุนรัฐประหาร-กองทัพ’ เกิดขึ้นในเมียนมาด้วย โดยเป็นกลุ่มที่ประท้วงการจัดเลือกตั้งของ กกต.เมียนมา โดยอ้างว่ามีการทุจริตก่อนหน้านี้

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาสะเทือนถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการต่อสู้กับ ‘ระบอบอำนาจนิยม-การสืบทอดอำนาจ’ เพื่อปักธง ‘ประชาธิปไตย’ ให้ประเทศตนเอง ทั้งนี้ รัฐประหารเกิดขึ้นในเมียนมา ก็เปรียบเป็น ‘กระจกสะท้อนตัว’ ให้กับไทยด้วย

เพราะเราคือเพื่อนกัน !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog