ตั้งแต่มีการเปิดอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ในส่วนของ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก จัดตั้งกองทุน BSF ดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) มักถูกฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามถึงความพยายามช่วยเหลือบริษัทขนาดใหญ่แบบไม่เป็นธรรม เมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่มีให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี
โดยในการอภิปรายวันที่ 31 พ.ค.นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นมาชี้แจงต่อที่ประชุมว่าการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) เป็นความจำเป็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะกว่าร้อยละ 80 ของผู้ถือตราสารหนี้เอกชนเหล่านี้คือประชาชนในประเทศ การปล่อยให้ตราสารหนี้เหล่านี้มีปัญหาจึงจะเป็นการสร้างภาระให้ประชาชนในตอนท้าย
รมว.คลัง ยังย้ำว่าเงื่อนไขในการช่วยเหลือบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เหล่านี้ ไม่ได้มีส่วนที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์นอกเหนือจากการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะคิดดอกเบี้ยในอัตราส่วนที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งแตกต่างกับนโยบายซอฟต์โลนที่คิดดอกเบี้ยในสัดส่วนที่ต่ำ คือร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าระดับทั่วไปของตลาด
"อันนั้น (ซอฟต์โลน) เราให้ดอกเบี้ยถูกพิเศษ อันนี้ (กองทุน BSF) เราให้แพงพิเศษ" อุตตม กล่าว
ทั้งนี้ นายอุตตมตอบประเด็นเรื่องการพิจารณาให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราที่ 77 วรรค 3 เนื่องจากบทบัญญัติมาตราที่ 19 วรรค 1 ของ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินฯ กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องเป็นการใช้ดุลพินิจในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาสภาพคล่องร้ายแรงจากโควิด-19 ทั้งยังต้องเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันตัวเลขประชาชนที่ถือหุ้นกู้เอกชนมีอยู่ราวร้อยละ 83 หรืออาจคิดเป็นจำนวนหลายแสนถึงหลักล้านคน และการหยิบ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินฯ และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีฯ มาเปรียบเทียบกันอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องมากนัก เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านซอฟต์โลนนั้นเป็นเพียงมาตรการเพิ่มเติมที่ออกมาสนับสนุมาตรการอื่นๆ ที่มีมาก่อนแล้ว ทั้งยังย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยของฝั่งซอฟต์โลนนั้นอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมากๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ในทางตรงกันข้าม กองทุน BSF นั้น เป็นการให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้เท่านั้น ไม่ใช้ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกมาใหม่ อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นจะต้องหาเงินทุนสนับสนุนเองอีกร้อยละ 50 ไม่ใช่สามารถมาใช้กองทุนฯ ตรงนี้ได้ทั้งหมด
นายเมธี ยังย้ำอีกว่า ความช่วยเหลือที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้เหล่านี้ยังต้องแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ในสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษด้วย
รองผู้ว่าฯ ธปท.ปิดท้ายว่า การตัดสินใจเข้าช่วยเหลือบริษัทรายใหญ่เหล่านี้เป็นไปด้วยความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกที่มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดตราสารหนี้เอกชนถึง 2 คณะฯ ที่ย้ำว่าจะไม่มีช่องโหว่ให้คณะกรรมการผู้ใดสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับคณะหรือกลุ่มบุคคลส่วนตัวได้ และชี้ว่าทุกครั้งที่มีการตัดสินใจ ก็จะมีการประกาศความช่วยเหลือเหล่านั้นออกสู่สาธารณชนทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :