ไม่พบผลการค้นหา
ในช่วงเดือนกันยายนนี้ นักการเมืองหลายรายจากหลายมุมโลกตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องการใช้ประวัติการศึกษาว่าจบปริญญาเอก

ข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งที่ทั่วโลกจับตา คือ ข่าวเรื่องวุฒิปริญญาเอกของไช่อิงเหวินประธานาธิบดีแห่งไต้หวัน ซึ่งกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อมีศาสตราจารย์ 2 ราย รายแรกเป็นศาสตราจารย์อาวุโสทางนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันและรายที่สองเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาแอทชาร์ล็อตต์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่พบข้อมูลวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของไช่อิงเหวินในหอสมุดของ London School of Economics หรือ LSE มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษที่ไช่อิงเหวินระบุในประวัติว่าจบการศึกษาจากที่นั่น จนก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าไช่อิงเหวินอาจจะเข้าเรียนปริญญาเอกที่ LSE จริง แต่อาจทำวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จหรือสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ซึ่งแปลว่าไช่อิงเหวินไม่ได้จบปริญญาเอกจริงและปลอมประวัติการศึกษามาตลอด

ไช่อิงเหวิน - tsai

หลังจากข่าวนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในไต้หวันถึงหนึ่งเดือนเต็มๆ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ไช่อิงเหวินก็มอบหมายให้โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีเปิดแถลงข่าวชี้แจง โดยได้นำใบรับรองการจบการศึกษาจาก LSE ลงวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1984 พร้อมทั้งนำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมาแสดง 

แต่ถึงกระนั้น สื่อมวลชนไต้หวันก็ตั้งข้อสังเกตว่าวิทยานิพนธ์ที่นำมาแสดงนั้นไม่ใช่ฉบับเต็ม แต่เป็นปึกของแผ่นกระดาษที่ไม่อยู่ในสภาพถูกเย็บเล่มด้วยซ้ำ ทำให้ไช่อิงเหวินประกาศว่าจะสั่งให้มีการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ฉบับเต็มให้สาธารณชนได้อ่าน และที่สำคัญคือไช่อิงเหวินประกาศว่าจะดำเนินการฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหาเผยแพร่ข่าวสารเท็จกับบุคคลและสำนักข่าวที่ยังตีข่าวว่าเธอใช้วุฒิการศึกษาปลอม และกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เป็นการเล่นสกปรก เป็นการสร้างข่าวเท็จด้วยฝีมือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเพื่อเล่นงานเธอก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปีหน้า คือในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ.2020 

ก่อนหน้านี้ไม่นาน เกรซ มูกาเบ ภรรยาและทายาททางการเมืองของโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการแห่งซิมบับเว ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 กันยายน ถูกแฉก่อนการอสัญกรรมของสามีไม่นานนักว่าใช้วุฒิปริญญาเอกปลอม 

000_Par8046908.jpg

แม้ว่า เกรซ มูกาเบ จะชี้แจงว่าเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งซิมบับเว (University of Zimbabwe) จริงในปี ค.ศ.2014 แต่สำนักกรรมาธิการต่อต้านการคอรัปชั่นของซิมบับเวก็ยังทำการสืบสวนจนพบว่ามหาวิทยาลัยแห่งซิมบับเวให้วุฒิปริญญาเอกแก่ เกรซ มูกาเบ หลังจากเข้าเรียนไปไม่ถึงห้าเดือน ส่วนวิทยานิพนธ์หนา 226 หน้า เพิ่งจะถูกยัดใส่เข้าห้องสมุดหลังจากข่าวเรื่องปริญญาเอกปลอมสะพัดออกไปในหน้าสื่อไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ จึงนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับ อาจารย์ที่ปรึกษา คณบดี และรองอธิการบดี ที่ลงนามอนุมัติปริญญาเอกฉบับนั้นในข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบ 

นอกจากนี้ สื่อหลายสำนักยังคาดการณ์ว่า เกรซ มูกาเบ จะถูกดำเนินคดีในข้อหาคอรัปชั่นอีกหลายข้อหาหลายกรรมหลายวาระ ซึ่งจะทำให้ถูกยึดทรัพย์ และอาจต้องโทษจำคุกด้วย 

ในประเทศไนจีเรีย ซามูเอล ออร์ทัม อภิมหาเศรษฐีชาวไนจีเรียผู้ชนะการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ.2019 ได้เป็นผู้ว่าการรัฐเบนูซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดของไนจีเรีย เขาผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและการลงทุนของไนจีเรียระหว่างปี ค.ศ.2011 ถึง ค.ศ.2015 และปัจจุบันเขายังเป็นบุคคลใกล้ชิดของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันอย่างมาก ในช่วงต้นเดือนกันยายนมีวุฒิสมาชิกอาวุโสหลายรายร่วมกันชี้ว่า ซามูเอล ออร์ทัม ไม่ได้จบปริญญาเอกจากต่างประเทศจริงดังที่เขากล่าวอ้าง เพราะเขาไม่เคยเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศเลย  

ซามูเอล ออร์ทัม ชี้แจงว่าเขาได้เรียนปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์กับมหาวิทยาลัยคอมมอนเวลท์ หรือ Commonwealth University แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการเรียนการสอนแบบทางไกล และส่งวิทยานิพนธ์แบบทางไกล อย่างไรก็ดี ได้มีการขุดคุ้ยว่าอันที่จริงมหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงเว็บไวต์กับตู้ไปรณีย์ที่เช่าไว้เพื่อหลอกลวงคน และที่อยู่ของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในประเทศเบลิซกับหมู่เกาะเวอร์จิน ไม่ได้อยู่ในอังกฤษแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดี ยังรัฐบาลไนจีเรียยังไม่ชี้แจงอย่างเป็นทางการว่าจะจัดการอย่างไรกับ ซามูเอล ออร์ทัม จะปลดเขาข้อหาใช้วุฒิการศึกษาปลอม หรือจะถือเป็นเรื่องส่วนตัว จนจะผ่านพ้นเดือนกันยายนแล้ว รัฐบาลก็ยังคงเงียบและนิ่งเฉยในเรื่องนี้ 

ในประเทศไทย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกวิจารณ์ว่าใช้วุฒิปริญญาเอกปลอม ซึ่งร้อยเอกธรรมนัสได้ชี้แจงว่าตนเรียนและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก California University FCE แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเรียนการสอนแบบทางไกล 

ธรรมนัส.jpg

อย่างไรก็ดี ที่ประเทศแซมเบีย ในปี ค.ศ.2016 คริสชิมบา กัมบ์วิลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและกิจการโทรทัศน์ ได้ถูกโจมตีว่าวุฒิปริญญาเอกที่เขาได้รับจาก California University FCE นั้นเป็นปริญญาเอกปลอม มันเป็นเพียงมหาวิทยาลัยที่เช่าห้องในตึกแถวและมีเพียงเว็บไซต์เท่านั้น เขาถูกประธานาธิบดีแห่งแซมเบียลงโทษเรื่องใช้วุฒิการศึกษาปลอมในข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบต่อตำแหน่ง ด้วยการปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2016 หลังจากอยู่ในตำแหน่งได้ 8 เดือน 

เมื่อโลกก้าวสู่ความทันสมัย การสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของนักการเมืองก็ง่ายขึ้นมาก ต้องจับตาดูต่อไปว่าเรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของนักการเมืองแต่ละรายจะลงเอยอย่างไร 

ภาพโดย McElspeth จาก Pixabay