ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อโครงการ ‘ผันน้ำยวม’ จากลุ่มน้ำสาระวินข้ามลุ่มมาเลี้ยงคนลุ่มน้ำเจ้าพระและคนกรุงเทพฯ ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า เพราะต้องแลกด้วยการเจาะอุโมงค์น้ำผ่านป่าต้นน้ำ -  ป่าสงวนและเขตอุทยานฯ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เผย คนลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาจต้องจ่ายค่าน้ำสูงขึ้น ที่สำคัญโครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ด้านนักวิชาการวิศวกรรมทรัพยากรน้ำเผยมีวิธีจัดการน้ำอื่นอีกมาที่แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้

1

ในที่สุดรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ‘โครงการผันน้ำยวม’ หรือที่เรียกว่า ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำภูมิพล’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของคนหลายจังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงคนในกรุงเทพฯ ก็ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.2564) โดยที่ประชุมดังกล่าวมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม

เท่ากับว่าโครงการนี้เตรียมการก่อสร้างแล้ว หลังจากรัฐบาลหลายรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จมาตั้งแต่ 2538 เพราะต้องมีเงินลงทุนที่สูง ในปัจจุบันกรมชลประทานระบุตัวเลขเงินลงทุนก่อสร้างอยู่ที่ 70,675 ล้านบาท

2

ถ้าจะพูดง่ายๆ โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลโดยความรับผิดชอบของกรมชลประทานมองว่า หากปล่อยให้ปริมาณน้ำจากในแม่น้ำยวม ไหลเข้าสู่แม่น้ำเมย ไปต่อที่แม่น้ำสาละวินกระทั่งสู่อ่าวเมาะตะมะ เท่ากับว่าปล่อยทิ้งลงทะเล เท่ากับน้ำปริมาณมหาศาลช่วงน้ำหลากจะเสียประโยชน์ทันที ดังนั้นจะต้องผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากลุ่มน้ำสาระวินมาลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ดังนั้นไม่ดีกว่าหรือถ้าสูบน้ำเหล่านั้นมากักเก็บไว้ที่เขื่อนภูมิพลเพื่อเป็นน้ำสำลองไว้ให้คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและอุปโภคบริโภค ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่

วีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบเคยให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์’ ว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำ 28,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าความต้องการของคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึง 3,000 - 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร 

“แม่น้ำเมยมีปริมาณน้ำเฉลี่ย 4,700 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำในฤดูฝน 4,100 ลบ.ม. ซึ่งโครงการผันน้ำยวมนั้นต้องการน้ำแค่ประมาณ 1,700 ลบ.ม. และจะสูบน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น” 

“คุณจะปล่อยให้ทิ้งเปล่าหรอ ?” วีระกรตั้งคำถามสั้นๆ กลับไปยังกลุ่มคนที่คัดค้านโครงการ

3

แม้ความสวยหรูของคำอธิบายถึงเหตุผลการทำโครงการแต่โครงการนี้ก็ถูกสังคมบางส่วนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ เมื่อต้องแลกมาด้วยการทำลายป่าและระบบนิเวศสัตว์ป่า ค่าน้ำของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาอาจแพงขึ้น ที่สำคัญโครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ 

อุโมงค์น้ำอาจทำลาย ‘ป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ’

‘ป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ’ พูดง่ายๆ คือพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฏอยู่ ‘ที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้’ ซึ่งมีพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้

ต้องมีการขุดเจาะผ่านป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ ที่เป็นป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก เป็นป่าที่ประชาชนรอบๆ มีส่วนในการดูแลรักษาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน กลุ่มประชาชนที่คัดค้านโครงการนี้บอกว่า อุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีต ที่ยาวกว่า 60 กิโลเมตร ต้องมีการขุดเจาะผ่านป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ ที่เป็นป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จ. คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ซึ่งเป็นป่าที่ประชาชนรอบๆ มีส่วนในการดูแลรักษาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่า การก่อสร้างต้องทำผ่านพื้นที่ เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง (อุทยานแห่งชาติแม่เงา) และพื้นที่ป่าสงวน 6 แห่ง (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น) ซึ่งอาจจะก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม 

ยังมีรายงานอีกว่า โครงการอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์ป่า เช่น เกิดการอพยพสัตว์ป่าคุ้มครอง 153 ชนิด กรณีการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำอาจจะทำให้เกิดการอพยพของปลาประจำถิ่นจากลุ่มแม่น้ำสาระวินไปมาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดการลักษณะทางพันธุกรรมต่างกัน เป็นต้น

ความกังวลในเรื่องการสูญเสียที่ป่าไม่เพียงเกิดขึ้นกับภาคประชาชนเท่านั้น แต่ เฉลิมเกียรติ์ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานก็กังวลเช่นกัน โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวชายขอบเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ว่า 

ในการพิจารณา อีไอเอ ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม- อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลนั้น แต่ละฝ่ายได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯมีความกังวลในเรื่องความลึกของการขุดอุโมงค์และต้องใช้พื้นที่ป่าสงวนอย่างไรก็ตามขณะนี้ได้กันพื้นที่ 800 ของอุทยานฯไว้แล้ว รวมทั้งเตรียมแผนในเรื่องการปลูกป่าทดแทน

4

โครงการนี้อ้างว่า คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะได้ประโยชน์จากโครงการทั้งเกษตรกรในลุ่มน้ำและน้ำประปา

แต่สำหรับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากถ้ารัฐบาลจะอ้างเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลล่อเลี้ยงเกษตรกรและคนในกรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินลงทุนก่อสร้างมากกว่า 70,000 ล้านบาท 

ผศ.ดร.สิตางศุ์ เสนอทางเลือกการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรแบบอื่น เช่น การขุดบ่อ ขุดสระ ในพื้นที่ไร่นา เพื่อเก็บน้ำไว้ในหน้าแล้งได้ หากมีการขุดบ่อ ขุดสระแล้ว กรมชลประทาน หรือ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ต้องพิจารณาในการที่จะเชื่อมโยงจากอ่างใหญ่มาสู่อ่างขนาดกลาง บ่อ สระ ของประชาชน เป็นระบบชลประทานแบบใยแมงมุม 

“ซึ่งกรมชลประทานเคยมีแนวคิดที่อยากจะทำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ ทั้งนี้ ระบบชลประทานแบบใยแมงมุม ก็สอดคล้องกับทฤษีใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มันไม่ได้เป็นวิธีที่ล้าหลัง” ผศ.ดร.สิตางศุ์กล่าว

ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะต้องจริงจังในการที่จะลดน้ำที่จะสูญเสียในระบบท่อ เพราะปัจจุบันมีน้ำสูญเสียในระบบท่อของทั้งสองหน่วยงานอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งรวมแล้วปีนึงทำน้ำหายไปเกือบจะเท่าเขื่อนป่าสักทั้งเขื่อน 

“ทำไมไม่กักเก็บน้ำท้ายเขื่อน อย่างกรณีฝนตกที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ รัฐต้องหาวิธีเก็บน้ำที่เกิดจากฝนตกนี้ นอกจากนี้ควรปรับปรุงระบบน้ำประปาเดิมที่มีความไม่สมบูรณ์จนทำให้น้ำประปารั่วไหลทิ้ง หรือระบบชลประทานเดิมให้มีประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.สิตางศุ์กล่าว

5

คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาอาจได้ใช้น้ำแพงขึ้น เพราะหากคำนวนจากต้นทุนค่าก่อสร้าง ต้นทุนค่าสูบน้ำและต้นทุนค่าปฏิบัติงานและบำรุงรักษา 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เขียนวิเคราะห์เรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุบางส่วนว่า 

จากต้นทุนการก่อสร้าง (ซึ่งมีทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำต้นทางที่แม่น้ำยวม และการสร้างอุโมงค์) โดยหากเฉลี่ยต้นทุนเป็นหน่วยต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว (ใช้อัตราคิดลด 9% ตามที่สภาพัฒน์แนะนำ) น้ำแต่ละลูกบาศก์เมตรที่ลอดอุโมงค์มาจะมีต้นทุนเฉพาะค่าก่อสร้างเท่ากับ 4.21 บาท/ลบ.ม. 

ดร.เดชรัตกล่าวอีกว่า แต่การผันน้ำในโครงการนี้จะต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปขึ้นปากอุโมงค์เสียก่อน ซึ่งจะต้องเสียค่าสูบน้ำในแต่ละปี ประมาณ 3,000 ล้านบาท หากคิดเป็นต้นทุนต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะเท่ากับต้นทุนค่าสูบน้ำ 1.66 บาท/ลบ.ม. แม้ว่าโครงการนี้จะมีการนำน้ำที่ผันมามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล ก็จะได้ค่าไฟฟ้าประมาณ 1,150 ล้านบาท/ปี เท่านั้น (หรือประมาณ 0.66 บาท/ลูกบาศก์เมตร)

“เมื่อรวมกับต้นทุนในการปฏิบัติงานและบำรุงรักษา อีก 0.17 บาท/ลบ.ม. แล้ว ต้นทุนของน้ำในโครงการนี้จะเท่ากับ 6.04 บาท/ลบ.ม. (=4.21+0.66+0.17 บาท/ลบ.ม.) เลยทีเดียวครับ” ดร.เดชรัตกล่าว

ดร.เดชรัตกล่าวอีกว่า หากนำน้ำดังกล่าวมาใช้ในทำนาปรัง มูลค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำทำนาปรังจะเท่ากับ 2.11 บาท/ลบ.ม. (รายงาน EIA ใช้ตัวเลขการใช้น้ำทำนาปรังที่ 1,106 ลบ.ม./ไร่)

“ซึ่งก็แปลว่า โครงการนี้ “ไม่คุ้มค่า” ครับ เพราะเรากำลังนำน้ำที่มีต้นทุน 6.04 บาท/ลบ.ม. มาผลิตสินค้าที่มีมูลค่า 2.11 บาท/ลบ.ม. คิดยังไงก็ไม่คุ้มค่าแน่นอน” ดร.เดชรัตกล่าว

แม้ว่าจะรวมผลประโยชน์จากนำน้ำมาทำน้ำประปาที่ 300 ล้าน ลบ.ม./ปี และผลประโยชน์อื่นๆ ด้วยแล้ว โครงการนี้ก็ไม่คุ้มค่าอยู่ดี ตัวเลขมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการในรายงาน อีไอเอ นี้จึงเท่ากับ -10,972 ล้านบาท (ที่อัตราคิดลด 9%) หรือขาดทุนไปประมาณ 11,000 ล้านบาท

6

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ เนื่องจากมีรายงานข่าวว่า รายงานอีไอเอ ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จนมาถึงที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) นั้น มีความผิดพลาดและไม่สมบูรณ์ จนเกิดคำถามว่าผ่านการพิจารณาได้อย่างไร 

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 มีมีรายงานข่าวว่า พบความผิดปกติในรายงานอีไอเอดังกล่าว เนื่องจากพบมีการนำภาพชาวบ้านฝ่ายคัดค้านโครงการนั่งทานอาหารที่ร้านลาบแป้ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นำมาประกอบรายงาน โดยรายงานอ้างว่าได้พูดคุยกับแกนนำที่คัดค้านแล้ว 

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงใน สำนักข่าวชายขอบเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 ว่า พบว่าในเอกสารอีไอเอ มีการนำรูป ชื่อ และข้อมูลของบุคคลหลายคนมาใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำนองว่าพบ ประชุม และทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว 

“ทั้งๆ ที่เป็นเพียงการนัดพบที่ร้านกาแฟ หรือรับประทานอาหารในร้านลาบ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ให้ทำรูปไปใช้ยืนยันใน อีไอเอ แต่ท้ายสุดกลับปรากฏอยู่ในรายงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและใช้ข้อมูลเป็นเท็จ นำชื่อมาใช้โดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่อง จนเป็นที่มาของ แฮชแท็ก #EIAร้านลาบ” เพียรพรระบุ

นอกจากนี้ เพียรพรยังระบุอีกว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำอีไอเอ แม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะได้ มีหนังสือชี้แจงถึงชาวบ้าน ภายหลังจากที่ชาวบ้านมีหนังสือแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการพร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงานอีไอเอ ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งหนังสือของ ทส. ระบุว่า ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน คชก. ได้พิจารณารายงาน อีไอเอ ดังกล่าวรวม 4 ครั้ง

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม กรมชลประทานได้ดำเนินกระบวนการ มีส่วนร่วมของประชาชนครอบคลุมในทุกพื้นที่และองค์ประกอบของโครงการทุกแห่ง ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มประชาชนในพื้นที่ และได้รับการพิจารณาจาก คชก.ด้วยแล้ว

แต่หากกลับไปย้อนดูข่าวจะพบว่า กระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าวมีช่องโหว่มากมาย จนแทบจะเป็นการ 'ทำให้เสร็จๆ ไป' เท่านั้น 

เช่น เมื่อปี 2563 กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนเข้าประชุมกลุ่มย่อยฯ แต่ชาวบ้านปฏิเสธไม่เข้าร่วม เนื่องจากมีความเห็นว่าชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เพราะเหตุผลสำคัญ อาทิ จัดประชุมในช่วงฤดูฝน สภาพถนนออกจากชุมชนไปสถานที่ประชุมยากลำบาก อันตรายต่อการเดินทาง สภาพเป็นถนนลูกรังบนภูเขาต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าปกติ 

นอกจากนี้ยังไม่มีรายละเอียดกำหนดการเรื่องเวลาและใครจะเป็นผู้มาชี้แจงข้อมูล ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าหากต้องเดินทางไกลเข้าไปร่วมประชุม สุดท้ายจะเป็นเหมือนที่เคย คือ เมื่อชาวบ้านจะตั้งคำถาม ผู้จัดประชุมก็บอกว่าไม่มีเวลาเพียงพอให้ถาม และบางคำถามก็ไม่มีคำตอบ

“ยังไม่รวมกับการที่ในปี 2564 มีกลุ่มบุคคลเข้ามาแจกแบบสอบถามแก่ชุมชน เพื่อสำรวจการชดเชยทรัพย์สิน และแจ้งผู้นำชุมชนว่าหากไม่กรอกแบบฟอร์ม จะไม่ได้ค่าชดเชย” เพียรพรระบุ

สุดท้ายน่าตั้งถามว่า โครงการที่คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคนกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์กลับต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่างตามที่กล่าวข้างต้นจริงหรือ?

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก

  • ‘รายงานข่าว นักวิชาการค้านโครงการผันน้ำยวม : 2 องศา ทำมาหากิน ดิน ฟ้า อากาศ (15 ก.ย. 2564)’ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
  • ‘ผ่าน EIA ผันน้ำยวม เผย ‘เข้าครม.ปีหน้า-ไม่เก็บค่าน้ำชาวนา-อาจไม่พึ่งทุนจีน’ ของสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 
  • ‘จับตา “ผันน้ำยวม” เข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติวันนี้ เพื่อเดินหน้าภายใน ธ.ค.?’ ของสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 
  • ‘ข้อเท็จจริง EIA ร้านลาบ  โครงการผันยวมสู่เขื่อนภูมิพล’ ของสำนักข่าวชายขอบ
  • ‘ผันน้ำยวม เร่งรีบ ผลักดัน EIA บิดเบือนข้อมูล การมีส่วนร่วม’ ของ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
  • ผันน้ำยวม: รัฐสน จีนพร้อมจ่าย ชาวบ้านค้าน "ทำไมเราต้องสละน้ำให้เจ้าพระยา" ของ Voice TV