หลังรัฐบาลเริ่มโครงการงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนมีกระแสตอบรับและปรับตัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
โลกออนไลน์มีรูปภาพไวรัลมากมายเกี่ยวกับสิ่งของทดแทนที่ประชาชนเลือกนำมาใส่ของที่ซื้อ ทั้งที่ดูมีความคิดสร้างสรรค์ไปจนถึงรูปแบบที่ผิดกฎหมายอย่างการขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในร้านสะดวกซื้อจนถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ล่าสุดทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ ว่ารู้สึกอย่างและกับมาตรการดังกล่าวและปรับตัวอย่างไรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เสียงสะท้อนจากประชาชนมีทั้งที่เห็นด้วยกับมาตรการงดแจกถุงพลาสติกของรัฐบาลและมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกับสิ่งแวดล้อม โดย 'วารินทร์ ศิริพิทักษ์' กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการนี้และมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะประเทศอื่นๆ ก็งดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ 'วารินทร์' ยังเสริมว่า ทุกอย่างสามารถเริ่มได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวเองก่อน เนื่องจากปัญหาขยะที่มาจากถุงพลาสติกทุกวันนี้มีมากจนอยู่ในภาวะน่ากังวลแล้ว
เช่นเดียวกับ 'ณัฐวดี อินาวัง' ผู้พิการทางสายตาที่ออกมาสะท้อนว่า มาตรการดังกล่าวช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้มาก เพราะถุงพลาสติกที่หล่นตามพื้นมักเป็นเหตุผลหลักให้ผู้พิการทางสายตาประสบอุบัติเหตุลื่นล้มต่างๆ
"คนตาบอดเหยียบถุงลื่นประจำ เพราะคนตาดีชอบทิ้งอีเหละเขะขะ" ณัฐวดี กล่าว
อย่างไรก็ตามประชาชนบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องไม่สะดวกสบายและอย่างน้อยก็อยากให้มีถุงเตรียมแจกไว้ให้ประชาชนที่ลืมพกถุงผ้าส่วนตัวมาซื้อสินค้า
'บุญเรือน อาจละออ' กล่าวว่า บางครั้งตัวเองก็ไม่ได้ตั้งใจไปซื้อสินค้า แต่เมื่อเดินเข้าไปแล้วอยากจะซื้อสินค้าก็ต้องเผชิญความยากลำบากในการขนสินค้ากลับบ้าน และย้ำว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จะต้องมารับภาระตรงนี้
ปัญหาใหญ่คือ 'ตลาดสด' ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ประเทศไทยใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วสูงถึง 45,000 ล้านใบ/ปี โดยแหล่งที่มาอันดับ 1 คือตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 หรือ 18,000 ล้านใบ/ปี ขณะที่อีก 2 แหล่ง แบ่งเป็นจากร้านขายของชำ และ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ อีกอย่างละครึ่ง
ดังนั้น มาตรการที่ออกมาแท้จริงแล้ว ยังไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้จุดใหญ่หรือการใช้ถุงพลาสติกในตลาดสดได้ จากการไปสำรวจตลาดคลองเตย พบว่า ผู้ค้าและผู้บริโภคกว่าร้อยละ 90 ในตลาดคลองเตยยังคงใช้ถุงพลาสติกเป็นส่วนใหญ่
'วิสุทธิ์ วิลัยหาร' พ่อค้าขายถุงพลาสติกในคลองเตย กล่าวว่า การให้คนมาเดินตลาดไม่ใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่อง "ยากมาก" เพราะคนที่มาเดินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้า เข้ามาซื้อของในจำนวนมากเกินกว่าจะใช้ถุงผ้าใส่ของได้เพียงพอ
โครงการลดการแจกถุงพลาสติกในปัจจุบันของรัฐบาลแท้จริงแล้ว ลดการใช้ถุงพลาสติกได้เพียงร้อยละ 30 จากจำนวนทั้งหมดต่อปี ดังนั้น หากภาครัฐต้องการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ถุงพลาสติกก็ยังต้องเพิ่มมาตรการให้ครอบคลุมมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐเองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและไม่ผลักภาระให้กับประชาชน อย่างเช่นกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ผลักดันนโยบายเดียวกัน ภาคเอกชนของญี่ปุ่นออกมาเตรียมถุงทางเลือกให้กับประชาชน ทั้งถุงที่ทำจากกระดาษ หรือถุงที่ทำจากอ้อย รวมไปถึงการเข้าไปควบคุมราคาถุงที่เตรียมไว้ขายสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ได้เตรียมถุงผ้ามาเองให้มีราคาที่เป็นมาตรฐานเท่ากัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :