“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาเยือนเพื่อให้กำลังใจ ส.ส.ของพรรค พปชร.ในการเตรียมความพร้อมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค.
แต่อีกแง่หนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่า ทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” “พล.อ.ประวิตร” และ “พล.อ.อนุพงษ์” ต่างกังวลการอภิปรายในการแถลงนโยบายครั้งนี้อยู่ไม่น้อย
เพราะก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ“บิ๊กป้อม” ออกตัวมาตลอดว่าจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพรรค พปชร. โดยมักพูดว่าให้ฝ่ายการเมืองเขาทำไป เพราะที่เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจาก “บิ๊กตู่” อยากให้มาช่วยงาน ก็เท่านั้น
ขณะที่ “บิ๊กตู่” แม้พรรค พปชร.จะเสนอตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี กระนั้นก็บ่ายเบียงตลอดว่า เป็นการดำเนินการของพรรค ซึ่งตนมีหน้าที่เพียงตอบว่า จะรับหรือไม่รับคำเชิญของพรรค พปชร.ก็เท่านั้น
ส่วน “บิ๊กป๊อก” หนักถึงขนาด เคยพูดว่าจะไม่เล่นการเมืองด้วยซ้ำ
แม้แต่เด็กอมมือก็ยังมองออกว่าความจริงแล้ว ใครกันแน่เป็นผู้มากบารมีในพรรค พปชร.ใครกันแน่มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง ซึ่งนั่นหมายถึงใครกันแน่คือเจ้าของพรรคตัวจริง
แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของผู้นำตัวจริง จึงดูเหมือน ส.ส.พปชร.และ “บิ๊กตู่” รวมถึง “บิ๊กรัฐบาล” ของ”บิ๊กตู่” จะไม่ม���ความเชื่อมโยงเท่าที่ควร และด้วยความที่พรรค พปชร.เป็นการรวมตัวกันของคนหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มต่างมุ่งหวังให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด
นั่นจึงทำให้พรรค พปชร.มีข่าวร้าวไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งเกิดจากความไม่มีเอกภาพของพรรค พปชร.เอง
ความไม่เป็นเอกภาพนี้ สร้างความกังวลต่อแกนนำพรรค พปชร.อย่างยิ่ง
โดยเฉพาะต่อการแถลงนโยบายรัฐบาล เพราะอย่างที่รู้กันว่า 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้านจ้องเล่นงานชนิดที่ว่าละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็น การอภิปรายนโยบายรัฐบาล โยงไปถึงความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทั่งเข้าสู่การอภิปรายผู้กำหนดนโยบาย ลามไปสู่การลากไส้รัฐมนตรีรายตัว
มีรัฐมนตรีในส่วนของพรรค พปชร.ที่คาดว่าจะถูกฝ่ายค้านอภิปรายหนัก จึงต้องเตรียมตัวทำการบ้านไว้อย่างรัดกุม 8 คน ประกอบด้วย
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เตรียมความพร้อมชี้แจงประเด็นคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี โดยจะหยิบยกคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่ขัดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมานั้น “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบได้อย่างละเอียด
2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมชี้แจงฝ่ายค้านถึงการดำเนินงานของฝ่ายความมั่นคงตลอดห้วงเวลาการคงอยู่ของรัฐบาล คสช.โดยเฉพาะการเรียกผู้เห็นต่างไปปรับทัศนะคติในค่ายทหาร พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังพร้อมชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านมุ่งโจมตีการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยเฉพาะการเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่เลือกเอาแต่พวกเดียวกันเข้ามาเป็น ส่วนประเด็นหยิบย่อย เช่น นาฬิกาเพื่อน แหวนพ่อ เหมาลำเครื่องบินไปฮาวาย “บิ๊กป้อม” คงนั่งยิ้ม ไม่โต้ตอบ
ขณะที่การจัดซื้ออาวุธของกองทัพ จะเป็นหน้าที่ของ “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เตรียมตอบข้อกังขากรณีที่มีชื่อบุตรชายใช้เส้นสายหวังได้งานจัดการโรงไฟฟ้าขยะในภูเก็ต และถึงการรวบอำนาจ ดึงการแก้ไขปัญหาขยะมาดูแลเองทั้งหมด และกรณีล่าสุด ที่รองผู้ว่า กทม.ลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สบายใจการดำเนินโครงการเตาเผาขยะสองแห่งใน กทม.
4.นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อตอบข้อสงสัยการปล่อยเงินกู้เมื่อครั้งนั่งบอร์ดธนาคารกรุงไทย โดยปล่อยกู้ให้กับกลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร ซึ่ง คตส. ตีตกสำนวนเฉพาะนายอุตตม ส่วนบอร์ดคนอื่นๆกลับมีความผิด โดยนายอุตตม อ้างว่า เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดคนอื่นๆ กระนั้นฝ่ายค้านก็จะขุดลายเซ็นของนายอุตตม ที่ร่วมเซ็นอนุมัติ ซึ่งปรากฎให้ว่อนในสื่อออนไลน์ โดยกรณีนี้นายอุตตมไม่ยอมตอบสื่อแม้แต่น้อย
5.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ฝ่ายค้านจองกฐินอภิปรายว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมาจากตระกูลธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่เบอร์ต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ แม้เป็นเพียงการตั้งแง่ของฝ่ายค้าน แต่ด้วยความที่นายสุริยะนั้น พูดน้อย อธิบายไม่ค่อยเก่ง เรียกว่าพูดทีมีอันตะกุกตะกัก การรับมือฝ่ายค้านจึงเป็นปัญหาพอสมควร
(ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หารือในห้องประชุมรัฐสภา รับมือฝ่ายค้าน)
6.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม หรือ ดีอี ซึ่งต้องโดนแน่ในประเด็นคุณสมบัติความเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยจะหยิบยกการชุมนุมของ กปปส.เมื่อปี 2556-2557 เพื่อล้มล้างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง จนถูกตั้งข้อหากบฏ ซึ่งนายพุทธิพงษ์ พร้อมชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการศาลชั้นต้น และไม่เคยคิดล้มล้างการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจะชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองบางพรรคต่างหาก ที่ไม่เคารพระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะกล้าวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญหลังมีคำพิพากษาแล้ว
7.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มั่นใจว่าจะโดนอภิปรายในประเด็นเดียวกับที่นายพุทธิพงษ์ ดังนั้น คำตอบจึงไม่แตกต่างกันมากนัก ทว่านอกเหนือจากนั้น “นายณัฏฐพล” ยังต้องตอบข้อกังขาปมผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ โดยที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ
8.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งคนที่จะโดนหนักที่สุดในการอภิปรายครั้งนี้ เนื่องด้วย “ร.อ.ธรรมนัส” นั้น เป็นคนมีอดีตซึ่งไม่ค่อยจะสวยเท่าไหร่
โดยเฉพาะกรณีที่เคยถูกศาลนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรีย สั่งจำคุก 8 เดือน ข้อหาขนเฮโรอีนเข้าประเทศ ซึ่งเจ้าตัวตั้งใจแก้ต่างว่า เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะบังเอิญไปอยู่ในบริเวณเดียวกับผู้กระทำความผิดพอดี เจ้าหน้าที่จึงเหมารวม ด้วยเหตุนี้ จึงโชคร้าย ทั้งหมดจึงเป็นเรื่อง“โอละพ่อ”
ปัญหาของพรรค พปชร.คือ ไม่มี ส.ส.ที่อภิปรายเก่งๆ เหมือนพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ดังนั้น จึงเป็นงานหนักของตัวรัฐมนตรีที่ต้องเตรียมพร้อมข้อมูลเพื่อรับมือฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้จะเหลือนักอภิปรายแถว 2-3 แล้ว กระนั้นก็นับว่ามีตัวอภิปรายที่เหนือกว่าพรรค พปชร.
ยิ่งบวกกับ ส.ส.ไฟแรงอย่าง “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งมีการเตรียมข้อมูลมาอย่างดี แม้จะเป็นการอภิปรายนโยบาย แต่นั่นก็ถือเป็นศึกหนักของ พปชร.
สิ่งที่ ส.ส.พรรค พปชร.ต้องคอยระวังมากที่สุดคือการอภิปรายดิสเครดิต“บิ๊กตู่”
โดยมีการแบ่งทีมย่อยๆ ทำงานอย่างเป็นระบบ เริ่มจาก ส.ส. อาทิ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายสิระพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.
รวมถึง ส.ส.หญิงอย่าง น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ลุกขึ้นประท้วงเพื่อชี้ให้ประธานสภาฯ เห็นว่าฝ่ายค้านไม่ได้อภิปรายในประเด็นการนำเสนอนโยบาย หากแต่มุ่งโจมเล่นงานรัฐมนตรีรายบุคคล ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนแต่อย่างใด
หากพบว่าถึงคราวต้องตอบโต้ จะเป็นหน้าที่ขององครักษ์ เช่น นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พล.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ ส.ส.นครสวรรค์ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ ฯลฯ รวมถึงองครักษ์ระดับรัฐมนตรีจากค่าย กปปส.
การเบรกและตอบโต้ฝ่ายค้าน มีตั้งแต่การชี้ให้เห็นว่าอภิปรายนอกประเด็น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน แก้ต่างโดยอ้างคำพิพากษาและกระบวนการยุติธรรม เรื่อยไปจนถึงขั้นหยิบคดีความของ ส.ส.ฝ่ายค้านขึ้นมาตอกกลับ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่านักการเมืองทุกพรรคมีคดีความด้วยกันหมด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักการเมือง กระทั่งพูดถึงความล้มเหลวของในโยบายในอดีต เช่น รับจำนำข้าว รถคันแรก แจกแท็บเล็ต เป็นต้น
ทีมองค์รักษ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างเดียวไม่อาจรับมือฝ่ายค้านได้ ดังนั้น ส.ว.จึงจะมีบทบาทสูงในการทำหน้าที่ ให้สมกับที่ได้รับสรรหามา ซึ่ง ส.ว.ที่จะช่วยพรรค พปชร.ในเกมนี้ ไม่ต้องเดา เพราะพวกเขาคือเหล่านั้น คือ ส.ว.มืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นายสมชาย แสวงการ นายวันชัย สอนสิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นต้น
ขณะที่ “บิ๊กตู่” ได้เตรียมตัวอย่างหนัก โดยคนใกล้ชิดได้เตรียมสนับสนุนข้อมูลรอบด้าน ทุกประเด็น มีศูนย์บัญชาการการป้อนข้อมูล ทำงานตลอดการอภิปราย
กระนั้น ความกังวลของ “บิ๊กตู่” ยังสะท้อนจากที่“บิ๊กป้อม” ปลุกใจ ส.ส.พรรค พปชร. ระหว่างโผล่งานสัมมนาของพรรค โดย “พล.อ.ประวิตร” พูดกับ ส.ส.โดยใช้คำว่า “ครอบครัวของเรา ครอบครัวเดียวกัน” แม้ก่อนหน้านี้จะเคยยืนยันแล้วยืนยันอีกว่า “ผมไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของพรรค”
“บิ๊กป้อม” ตบท้ายที่การให้สัญญาว่า ถ้ามีความสามัคคี รัฐบาลอยู่ได้ 4 ปีแน่นอน
ซึ่งมีแววว่า “บิ๊กป้อม” กับ “บิ๊กตู่” พร้อมเปิดตัวกับพรรค พปชร.ทันที หากการแถลงนโยบายครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง