ในงานเสวนาพูดคุยเศรษฐกิจไทยปี 2562 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันร่วมกับธนาคารกรุงไทย หัวข้อ 'Thailand Economic Challenge : ปีหมูทอง เศรษฐกิจไทยไปต่อ ? ' ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจร่วมพูดคุย และต่างมองว่า เศรษฐกิจปีหมูทองมีทั้งความท้าทายและโอกาส
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีหมู โดยตั้งข้อสังเกตทั้งหมด 3 ประเด็น
ประเด็นแรก คือความไม่แน่นอนที่ประเทศไทยต้องเผชิญโดยมีแรงหนุนมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ประเด็นสงครามการค้าเป็นสิ่งที่ประเทศผู้ส่งออกอย่าง ไทย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ภูมิภาคอาเซียน ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกที่จะใช้นโยบาย "อเมริกามาก่อน" (America First) ยิ่งเป็นเหตุผลที่การตัดการนำเข้าสินค้าเพื่อผลิตเองภายในประเทศ เพื่อลดช่องว่างตัวเลขประชากรที่ว่างงานของสหรัฐฯ
ประเด็นที่สอง คือโอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทาย ประเด็นหลักที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างสำคัญคือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยชี้ให้เห็นว่า จากโครงการนี้ ผู้ลงทุนชาวต่างชาติจาก 2 ประเทศผู้ลงทุนขนาดใหญ่ในไทย อย่าง ญี่ปุ่น และ จีน มีความสนใจลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี พร้อมทั้งยังเป็นเครื่องย้ำเตือนให้รัฐบาลเตรียมพร้อมในการรองรับการมาลงทุน พร้อมกับเตรียมความพร้อมในการหยิบฉวยโอกาสการเป็นผู้นำในแถบ CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
นายสมคิดยังพูดถึงการปฏิรูปสำคัญที่จำเป็นสำหรับประเทศเพื่อการเดินไปข้างหน้า โดยเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนถ่ายประเทศไปสู่ระบบที่จะทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการส่งเสริมการใช้งานและให้ความรู้ประชากรเป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบัน ภาคเอกชน และรัฐบาลหน้าต้องร่วมมือทำอย่างจริงจัง
ประเด็นสุดท้าย คือการเลือกตั้งในปีนี้ นายสมคิดชี้ว่าไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติให้ได้ว่าถึงแม้รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม แต่มีเอกภาพและสามารถขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้
"แล้วที่มาบอกว่า รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ผมถามจริงๆ เถอะ รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรจริงเหรอ แล้วที่ผมพูดมาทั้งหมดคืออะไร แค่มาหาเสียงให้ชนะ มันไม่เกิดประโยชน์อะไร" นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การถึงประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างความเหลื่อมล้ำของประชาชน โดยย้ำว่าการที่ประเทศประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจยืดหยุ่นได้น้อย ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบ ประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศซึ่งอยู่ในภาคส่วนที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำได้รับผลกระทบอย่างหนัก
กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีความรับผิดชอบหลักในการประคอง 5 อุตสาหกรรมเดิมที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ยังต้องพัฒนา 10 อุตสาหกรรมกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผู้ประกอบการ นายอุตตม ยกตัวอย่างว่า ประเทศสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรให้กลายเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพได้ รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เปลี่ยนจากการเน้นการประกอบรถยนต์เดิมเป็นการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้า รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีการแพทย์โดยใช้ภาพลักษณ์ด้านการแพทย์และการบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์และเพิ่มในส่วนของเทคโนโลยีเข้าไป
"5 อุตสาหกรรมเดิม เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ของรถยนต์ ยังมีสมรรถนะอยู่ แต่โจทย์คือในยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เราจะเสริมสมรรถนะของเครื่องยนต์ยังไง" นายอุตตม กล่าว
พร้อมกับย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญคือทรัพยากรมนุษย์ การเตรียมพร้อมประชาชนให้มีความพร้อมสำหรับทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงภาพของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 พร้อมชี้แจงสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเพื่อประคองและวางกรอบพัฒนาเพื่ออนาคต ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความปั่นป่วนจาก 2 ปัจจัย คือ ความปั่นป่วนของโลก ทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสงครามการค้า และปัจจัยภายในประเทศอย่างการเลือกตั้ง
เมื่อรวมทั้ง 2 ปัจจัยไว้ด้วยกัน ประเทศไทยต้องหาทางรอดจากการปรับตัวและการปรับตลาด นายสนธิรัตน์ชี้ว่า ไทยมีความจำเป็นในการมองตลาดส่งออกใหม่ๆ อย่าง อินเดีย ฮ่องกง และเกาหลีใต้ เนื่องจากประเทศเป้าหมายส่งออกเดิมของไทยอย่างสหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก อย่างที่ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 3/2561 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการส่งออกไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจนติดลบ ด้านการปรับตัวแผนดำเนินการในประเทศ นายสนธิรัตน์ชี้ว่า นโยบายสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยคือระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ปิดท้ายด้วยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้โลกที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และกำกวม จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนประเทศด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศโลกที่ 1
นายสุวิทย์ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นซึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเทศไทยจะต้องปรับตัวตามให้ทัน อีกทั้งการปฏิรูปครั้งนี้ 3 ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องนึกถึงคือ 1) การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระดับโลก 2) การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน 3) มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
พร้อมกับทิ้งท้ายว่า อีกประเด็นที่ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญคือการลงทุนเพื่ออนาคต โดยย้ำว่าในอนาคตประเทศโลกที่ 1 จะแข่งกันที่วิทยาศาสตร์อวกาศ และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีทั้งองค์ความรู้และปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :