ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' แสดงความเสียใจหลัง 'แพทย์มหาสารคาม' ​เสียชีวิตจากการดูแลผู้ป่วยโควิด-19​ ย้ำวัคซีนเป็นไปตามกระบวนการไม่ล่าช้า​ ขณะสั่งการผู้ว่าฯปทุม​ธานี จำกัดพื้นที่แพร่ระบาด​ ย้ำ สธ.พร้อมหนุนทีมวัคซีนโควิดจากจุฬาฯ เผย ข่าวดี ผ่านการทดลองในสัตว์ เตรียมทดลองในอาสาสมัครเดือนพ.ค.นี้

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก​รัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ล่าช้า​ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน​ตรวจสอบมาตราฐาน​คุณภาพ​ โดยย้ำว่าเวชภัณฑ์ทุกชนิดก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว​ สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องเกิดความปลอดภัยกับประชาชนที่จะได้รับวัคซีน​ อีกทั้งปล่อยให้เป็นเรื่องทางวิชาการ และยังย้ำว่า ไม่มีใครสามารถแทรกแซงคณะกรรมการ​วัคซีน​แห่งชาติได้​ ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการควบคุมโรคและพยายามที่จะจำกัดวง​ให้ได้มากที่สุด​

ส่วนสถานการณ์​ที่จ.ปทุมธานี​ ได้มีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด​ โดยมีการตั้ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์​ และประกาศพื้นที่อันตราย​เป็นเขตติดเชื้อที่จะสามารถใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้​ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของตนเองเมื่อวานนี้ ​(17 ก.พ. 64)​ พบว่า​ มีการบริหารจัดการที่ดี​ โดยสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งจัดการการแพร่ระบาดและคืนพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด​ พร้อมยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขดูแลในส่วนของภาพรวมของจังหวัดปทุมธานี​ อย่างเต็มที่​ ทั้งเวชภัณฑ์และสถานที่​ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต​ถือว่าดีที่สุดด้วย

ส่วนกรณีผู้มาจากต่างประเทศแล้วกักตัว ที่โรงแรมดังที่พัทยา (State Quarantine) และพบไม่ได้มาตรฐาน​นั้น​ นายอนุทินระบุว่า​ หากพบบริการที่ไม่เป็นธรรมให้แจ้งเข้ามาเพื่อที่จะปรึกษาและรายงานในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค.เพื่อหาวิธีการแก้ไข​ และ​ล่าสุดทางโรงแรมได้มีการฟ้องกลับจะต้องมีการฟังความทั้งสองด้าน​ แต่ย้ำว่า​ State Quarantine เป็นทางเลือกที่ไม่ต้องจ่ายเงินเองแต่​ หากต้องความสะดวกสบายจะต้องยอม​ออกค่าใช้จ่ายใน​ Alternative State Quarantine (ASQ) 

อนุทิน ยังแสดงความเสียกรณีการเสียชีวิตของ นพ.ปัญญา อดีตแพทย์ อายุรกรรม รพ.มหาสารคาม​ อายุ 66 ปี​ และ​​ขอชื่นชมจากหัวใจเพราะปฎิบัติในวัยเกษียณ​อายุคนติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะมีการระมัดระวังแต่ด้วยอายุที่มากทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย​และขอให้ผู้อภิปราย​คำนึงถึงการทำงานของแพทย์และพยาบาลด้วย ส่วนตัวรู้สึกสะเทือนใจเพราะเป็นบุคลากร​ทางการแพทย์ที่จะต้องหาวิธีดูแลให้มากที่สุดซึ่งวันนี้ตนจะเดินทางไปเคารพ​ผู้เสียชีวิต​ด้วย


สธ.แสดงความเสียใจกับครอบครัว นพ.ปัญญา 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ แพทย์จังหวัดมหาสารคาม ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แพทย์ท่านนี้เคยรับราชการเป็นแพทย์อายุรกรรมประจำโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นแพทย์ที่ดี เป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือของประชาชน ภายหลังเกษียณอายุราชการยังคงให้การดูแลรักษาประชาชน และทำงานช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการสูญเสียบุคลาการแพทย์ที่มีความความตั้งใจทำงานสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมาโดยตลอด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือประชาชนเมื่อป่วยขอให้ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน อยู่ให้ห่างจากผู้อื่น ที่สำคัญเมื่อไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลขอให้แจ้งความเสี่ยงของตนเอง อย่าปกปิด ให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่แพทย์ผู้รักษาและบุคลากรการแพทย์ทราบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้ขึ้นอีก


พร้อมหนุนทีมวัคซีนโควิด-19 จากจุฬาฯ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัคร 

59480.jpg

อนุทิน กล่าวว่า ตนและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ ในทุกวิถีทาง เพื่อให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด ให้คนไทยปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อส่งเสริมฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขของประเทศเรา ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่สามารถผลิตวัคซีนได้ในประเทศ ถึงแม้ จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ แต่ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเห็นโครงการฯ ประสบความสำเร็จ พร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในทุกด้านที่ได้รับการร้องขอ เปรียบเสมือนทีมเดียวกัน

ที่สำคัญ นี่คือเครื่องพิสูจน์ ว่า ไทยไม่ได้แทงม้าแค่ตัวเดียว แต่เราพยายามทำทุกทางอย่างเหมาะสม เพื่อให้ไทย ได้วัคซีนโควิด-19 ได้เร็วที่สุด และต้องปลอดภัยที่สุด กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนมาก มิได้เพิกเฉย เหมือนที่ฝ่ายการเมืองนำมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะตั้งแต่ได้ยินคำว่าโควิด-19 ครั้งแรก ก็นึกถึงในหัวคือ วัคซีน จะต้องหามาให้ได้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของระบบการแพทย์ไทยว่าวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนในประเทศ ไทยต้องยืนบนขาตัวเอง ไม่แทงม้าตัวเดียว แต่เราจะเป็นเจ้าของคอกม้า 

ที่ผ่านมาประเทศไทย พยายามปรับใช้ประสบการณ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาด ณ ปัจจุบัน ปัจจุบัน ไทยมีความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันได้เอง อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันส่วนบุคคล(PPE) รวมถึงยารักษาด้วย ปัจจุบัน ไทยมีวัคซีนโควิด-19 ในมือแล้ว 63 ล้านโดส และในอนาคต หวังว่าจะมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศ

59486.jpg


เตรียมทดลองในอาสาสมัคร พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุด ผ่านการทดลองในหนูและลิง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง และกำลังจะเข้าสู่การทดลองในคนระยะที่ 1

เบื้องต้น วัคซีนของจุฬาฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียส และอย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก ทั้งนี้คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดลองในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้

ขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคตเพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์ ซึ่งวัคซีน mRNA มีจุดเด่นคือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว