ไม่พบผลการค้นหา
เข้าปี 2564 มา 2 สัปดาห์ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสภา ‘ถูกแช่แข็งชั่วคราว’ จากสถานการณ์โควิดระบาด ระลอก 2 โดยที่ตั้งรัฐสภาอยู่ในพื้นที่ควบคุมสีแดง ส่วนการเมืองนอกสภา ก็ไม่ได้มีการนัดชุมนุมใดๆ เว้นแต่การนัดชุมนุมให้กำลังใจหรือติดตามการเข้ารายงานตัวของบรรดาแกนนำและมวลชนผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการบังคับใช้ ม.112 ที่มีอย่างต่อเนื่อง

ทว่าความเคลื่อนไหวที่มีต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนวันปีใหม่คือการแสดงออก ‘เชิงสัญลักษณ์’ ในการติดป้ายข้อความหรือการวางหุ่นห่อด้วยผ้า เพื่อต่อต้าน มาตรา 112 และให้ยกเลิก มาตรา 112 และยกระดับมากขึ้นผ่านข้อความถึงสถาบัน โดยติดตั้งในเวลาช่วงกลางคืนเป็นหลัก จากนั้นใช้วิธีขยายผลเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ถือเป็นอีกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกแอคชั่น ทว่าไม่ได้ทำด้วยตัวเองเช่นเมื่อครั้ง พ.ย. 2563 ที่ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับกับผู้ชุมนุม จึงเป็นที่มาของการเริ่มใช้ มาตรา 112 แต่ครั้งนี้ได้มอบ ‘ตัวแสดงแทน’ ได้แก่ ‘บรรสาน บุนนาค’รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง และ ‘อนุชา บูรพชัยศรี’โฆษกรัฐบาล เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

เพื่อเร่งรัดบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดี หากพบความผิด ที่มีหลักฐานที่ชัดเจน พร้อมคอยติดตาม ตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียล โดยเน้นไปที่การปล่อยเฟคนิวส์ ที่อ้างอิงไม่ได้ และการโพสต์ข้อความจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมเตือนมือโพสต์อย่าประมาทว่าเป็นการกระทำที่พิสูจน์ตัวตนไม่ได้ด้วย

การเคลื่อนไหวของ ‘นอกสภา’ ของกลุ่มที่มีแนวคิดตรงกับ ‘กลุ่มราษฎร’ โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบัน-ยกเลิก มาตรา 112 ยังคงดำเนินต่อไป

แม้จะไม่ได้มีการจัดชุมนุมใหญ่ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ที่สามารถ ‘เลี้ยงกระแส’ ในสถานการณ์ที่แกนนำถูกดำเนินคดี ต้องขึ้นโรงพัก และช่วงโควิดระบาด เพื่อ ‘รอจังหวะ’ กลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

โดยเฉพาะการใช้ ‘ยุทธการป้ายผ้า’ ในการแสดงออก ที่สะเทือนเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงนำมาสู่การให้ ‘2 ตัวแสดงแทน’ นำประชุมเพื่อปรามมือติดป้ายและเพื่อส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ

แต่ความเคลื่อนไหวกลับอยู่ที่ ‘กลุ่ม นปช.’ แทน ที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่สำคัญๆ การออกมาของคนเสื้อแดงกับการชุมนุมกลุ่มราษฎร เริ่มเด่นชัดช่วงส.ค. 2563 รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้คนเสื้อแดงได้ ‘มีตัวตน-แสดงออก’ ในพื้นที่ของคนรุ่นใหม่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในการ ‘ผสานคนสองรุ่น’ ที่ต่าง ‘วัฒนธรรมทางการเมือง’ เข้าด้วยกัน ทว่าการมาของ ‘คนเสื้อแดง’ ไม่ได้มาในนาม นปช. แต่มาใน ‘นามอิสระ-ส่วนตัว-กลุ่มย่อย’ เท่านั้น เพราะ นปช. ไม่มีการประชุมมากว่า 2 ปีแล้ว

จตุพร.jpg


ธิดา ถาวรเศรษฐ์.jpg

ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ‘ชี้ชะตา นปช.’ ขึ้นมา หลัง ‘ธิดา ถาวรเศรษฐ’ ประธานที่ปรึกษา นปช. ได้เปิดทำแบบสอบถามหรือโพลผ่านระบบออนไลน์และให้เครือข่าวระดับภูมิภาคไปรับฟังในพื้นที่ด้วย โดยตั้ง 3 คำถามปลายปิด และเปิดให้แสดงความเห็น ถามตรงไปตรงมาควบคู่กัน ได้แก่ ควรยุบ นปช. หรือไม่ , ควรปรับเปลี่ยนคณะนำของนปช. หรือไม่ , เห็นด้วยกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริงหรือไม่

ซึ่งโฟกัสสำคัญอยู่ที่ข้อ 2 เพราะ นปช. ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ‘2 ขั้ว’ หลักๆ นั่นคือ ‘ขั้ว ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์’ ประธาน นปช. กับ ‘ขั้วธิดา’ โดยแต่ละขั้วก็มี ‘พรรคการเมือง’ และมี ‘ช่องทางสื่อ’ เป็นของตัวเอง

โดย ‘จตุพร’ ก็ติดภาพพรรคเพื่อชาติ มีช่องพีซทีวี ส่วน ‘ธิดา’ ก็มีภาพ ‘ไทยรักษาชาติ’ ติดตัว เพราะเคยออกตัวสนับสนุนชัดเจน และมี ‘สำนักข่าวยูดีดีนิวส์’ เป็นสื่อของตัวเอง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของแต่ละขั้วที่ต่างคนต่างเดิน แต่มีจุดหมายเดียวกันที่พอคุยกันได้ คือ การต่อต้านเผด็จการ-รัฐประหาร ตามจุดยืนเดิม นปช. นั่นเอง

ดังนั้นจึงมีการพูดถึงชื่อ ‘ประธาน นปช. คนใหม่’ หนึ่งในนั้นคือ ‘เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ เลขาธิการ นปช. ที่อยู่ระหว่างพักโทษ แต่ยังอยู่ภายใต้ระเบียบกรมคุมประพฤติ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่ง ‘ณัฐวุฒิ’ กับ ‘ธิดา’ ต่างมีสายสัมพันธ์ที่ดี จึงต้องจับตาหลัง มี.ค. 2564 ที่ ‘ณัฐวุฒิ’ พ้นโทษแล้ว จะมีความเคลื่อนไหวใหญ่กลุ่ม นปช. ไปในทิศทางใด ซึ่งก็ต่างเชื่อว่า นปช. จะไม่มีการยุบ แต่จะมีการปรับเปลี่ยน ‘คณะนำ’ เท่านั้น ในวันที่ ‘อุดมการณ์’ ของกลุ่ม นปช. เดินตามหลังกลุ่มราษฎร โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปสถาบัน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

แต่ไม่ใช่ว่า ‘คนเสื้อแดง’ จะไม่เดินตามกลุ่มราษฎร-คนรุ่นใหม่ จากการชุมนุมใหญ่ช่วงปลายปี 2563 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามี ‘คนเสื้อแดง’ เข้าร่วมมากขึ้น

เช่น ‘แนวร่วมราษฎรอีสาน’ ที่สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร เพราะสุดท้ายก็คือ ‘หลักการ’ ของคนเสื้อแดงในการต่อสู้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสิ่งที่ ‘คนเสื้อแดง’ ได้สร้างขึ้นมานั้น ไม่สูญเปล่า แม้จะถูกสลายการชุมนุมมา 2 ครั้ง ถูกกดถูกปราบ มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต ถูกคดีความจำนวนมาก เพราะได้ส่งต่อเป็น ‘มรดกทางอุดมการณ์’ มายัง ‘คนรุ่นใหม่’ เรียบร้อยแล้ว

อีกทั้งวันเวลาจะเป็นบทพิสูจน์ว่าใครเป็นใครด้วย

เพราะมนุษย์หนี ‘ความจริง’ และ ‘เวลา’ ไม่พ้น !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog