วันที่ 1 มิ.ย. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวกรณีถึงข้อกังวลของ จเด็จ อินสว่าง ส.ว. เสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดย พิธา ย้อนถามว่า คำถามสำคัญในตอนนี้คือการที่เราจะออกจากความขัดแย้ง คือเรา ต้องการรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลแห่งประชาชน 8 พรรคที่ตั้งร่วมในขณะนี้ก็มาจากเสียงของประชาชนจำนวนมาก เกินครึ่งอย่างแน่นอน
"เพราะฉะนั้น ถ้าเราเคารพในเสียงประชาชน และช่วยกันเตือนว่า ทุกครั้งที่มีการไม่เคารพ มติของประชาชน และเลือกระบบที่ไม่ตรงกับเจตจำนงของพวกเขามาโดยตลอด นั่นคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง"
ส่วนตัวเข้าใจ ส.ว.จเด็ด ที่แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่มีใครอยากจะมีความขัดแย้งต่อไป พร้อมย้ำว่า "แต่เรารักษาระบบมิใช่หรือเรารักษามติของประชาชนไม่ใช่หรือ ที่จะออกจากความขัดแย้งได้"
"เพราะหากเราทำตรงกันข้ามเมื่อไหร่ นั่นคือสิ่งที่ประวัติศาสตร์สอนเรามา 20 ปีเป็นอย่างน้อย เรื่องดังกล่าวคือต้นเหตุคือความขัดแย้ง ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทุกคน พร้อมที่จะเป็นรัฐบาลแห่งประชาชน ไม่ได้เป็นแค่รัฐบาลแห่งชาติเพียงอย่างเดียว"
ส่วนกรณีที่ ส.ว.จเด็ด ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เข้ามาในเงื่อนไขรัฐบาลแห่งชาติด้วย พิธา มองว่า ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ ทั้งสองท่านกลับมา มีอำนาจอีกหรือไม่
พิธา มองว่า ถ้าหากสวนมติของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่เพียงแต่ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร และไม่ใช่ชื่อที่ประชาชนจำนวนมากแสดงเจตจำนง น่าจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง
ส่วนกรณี ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แนะ พิธา ว่าควรดูแบบอย่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในการเป็นรัฐมนตรีที่ดี พิธา ตอบว่า ส่วนตัว มองว่าหากจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดี ควรยึดประชาชนและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่ตนเองยึดมั่นตลอดมา
ทั้งนี้ หลังการตอบคำถาม พิธา ได้หยอกล้อกับสื่อมวลชน กล่าวว่า เมื่อครู่ได้ยินคำถามไม่ชัด ฟังจาก ธนกร เป็นชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จึงแปลกใจว่าทำไม ธนาธร จึงพูดแบบนั้น
'พิธา' ชม 'สภากลาโหม' จ่อลดจำนวนพลทหาร-ปรับระบบเกณฑ์แบบสมัครใจ
พิธา ยังกล่าวถึงกรณีสภากลาโหมแถลงเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า มีความต้องการพลทหารลดน้อยลง แล้วเป็นสัญญาณที่ดีว่าในปี 2570 อาจจะปรับไปสู่ระบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจได้
โดย พิธา เผยว่า เมื่อครั้งตนเป็นกรรมาธิการงบประมาณ เมื่อปีที่แล้ว ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมเข้ามาชี้แจง ตนจึงได้มีโอกาสเห็นเอกสารระบุว่า ได้มีแผนปฏิรูปกองทัพซึ่งเตรียมจะทำไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน ซึ่งสอดคล้อง กับข้อเสนอของพรรค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่
"เป็นกระดาษที่ทำให้เห็นภาพอยู่ว่าจะลดงบประมาณกองทัพเท่าไร ลดทหารเกณฑ์เท่าไหร่ แล้วมีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพมาหลายครั้ง ทั้งในและนอกห้องงบประมาณ แต่ปัญหาคือเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น"
พิธา กล่าวว่า หากการที่สภากลาโหมออกมาแถลง เป็นความตั้งใจจริง ที่จะเปลี่ยนแผนในกระดาษ เป็นแผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นได้จริง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเป็นการปรับตัวของกองทัพ ตามความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นว่าความท้าทายของโลก และของประเทศนี้แตกต่างออกไปมากแล้ว
"หากทำให้กองทัพจิ๋วแต่แจ๋ว ทันสมัย มีความเป็นสากลมากขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนชื่นชมไปด้วย ก็ขอให้ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่แท้จริง หากเกิดขึ้นได้จริงแล้วการทำงานระหว่างพรรคก้าวไกลและกระทรวงกลาโหม รวมถึงสภากลาโหม ก็จะเป็นทิศทางที่ดี และทำให้ประชาชนชื่นใจได้"
ขณะที่แผนของสภากลาโหมที่มีความต้องการพลทหารปีละ 9 หมื่นคนจากเดิมปีละ 100,000 คน พิธา ระบุว่า พรรคก้าวไกลมองว่า จำนวน 6 หมื่นคนต่อปี น่าจะเพียงพอ แต่อย่างน้อยมีเจตจำนงมา เรื่องรายละเอียดสามารถพูดคุยกันได้ แต่อย่างน้อยได้ทำให้กองทัพ มีความทันสมัยมากขึ้น ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี