ทั้งนี้ โมฮาเมด บาซูม ประธานาธิบดีไนเจอร์ ถูกกองทหารควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันพุธ (26 ก.ค.) โดยเขาได้รับคำมั่นสัญญาจาก แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ จะยังคงมีการ "สนับสนุนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง" แก่เขา
ในอีกด้านหนึ่ง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า เขาได้พูดคุยกับประธานาธิบดีไนเจอร์ และได้เสนอการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหประชาชาติแก่ประธานาธิบดีไนเจอร์
บาซูมเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกที่สำคัญ ในการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอิสลามในแอฟริกาตะวันตก โดยประเทศเพื่อนบ้านของไนเจอร์ 2 ประเทศ ได้แก่ มาลีและบูร์กินาฟาโซ ประสบกับเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดจากการลุกฮือของกลุ่มญิฮาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศดังกล่าวมีผู้นำทางทหารคนใหม่ ที่มีท่าทีไม่ลงรอยกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมซึ่งเคยปกครองไนเจอร์ด้วย
ในการออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์เมื่อวันพุธ พ.อ.อามาดู อับดรามาเน พร้อมด้วยทหารในเครื่องแบบอีก 9 นายที่อยู่ข้างหลังเขา กล่าวว่า "เรา กองกำลังป้องกันและความมั่นคง... ได้ตัดสินใจที่จะยุติระบอบการปกครองที่คุณรู้จัก… สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ความมั่นคงที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง และการปกครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่"
นอกจากนี้ อับดรามาเนยังกล่าวด้วยว่าสถาบันทั้งหมดของประเทศถูกระงับ และปลัดกระทรวงต่างๆ จะทำหน้าที่ดูแลธุรการประจำวัน "ขอความร่วมมือจากคนภายนอกทั้งหมดไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว" อับดรามาเนกล่าว “พรมแดนทางบกและทางอากาศถูกปิด จนกว่าสถานการณ์จะมีเสถียรภาพ” โดยไนเจอร์ทำการประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 05.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น จนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
อับดรามาเน ยังกล่าวอีกว่า ทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่ในสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิ (CNSP) ในการดูแลกิจการประเทศแทนรัฐบาลของประธานาธิบดีพลเรือน
ภายหลังจากการประกาศทางโทรทัศน์ของทหาร บลิงเคนได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวในนิวซีแลนด์ว่า "สิ่งที่สถาปนาไว้อย่างชัดเจนคือ ความพยายามที่จะยึดอำนาจด้วยกำลังและทำลายรัฐธรรมนูญ"
กลุ่มเศรษฐกิจ Ecowas ในแอฟริกาตะวันตก ได้ออกแถลง "ประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อความพยายามยึดอำนาจด้วยกำลัง" ในนามของ Ecowas ในขณะที่ ปาทริซ ทาลอน ประธานาธิบดีเบนิน ได้เดินทางมาถึงกรุงนีอาเม เมืองหลวงของไนเจอร์ เพื่อปฏิบัติภารกิจการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยทาลอนกล่าวว่า เขาจะหาวิธีใน "ทุกวิถีทาง" หากมีความจำเป็น เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญไนเจอร์ "แต่ความคิดอุดมคติคือ ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างสันติและสมานฉันท์"
ก่อนหน้านี้ในวันพุธ กลุ่มประชาชนในกรุงนีอาเม พากันออกมาที่ถนนเพื่อให้การสนับสนุนบาซูม ผู้สื่อข่าว BBC ยังรายงานพบเห็นกองกำลังติดอาวุธหนักที่ภักดีต่อประธานาธิบดี ซึ่งประจำการอยู่รอบๆ สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ในขณะที่เมืองส่วนใหญ่ของประเทศยังคงสงบสุข แม้ว่าทหารที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารจะพยายามยิงปืนเพื่อสลายการประท้วง
ไนเจอร์กำลังต่อสู้กับการก่อความไม่สงบของกองทัพอิสลาม 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งถูกกวาดล้างมาจากมาลีในปี 2558 และอีกกลุ่มมีฐานที่มั่นทางตะวันออกเฉียงใต้ โดยพวกเขาเกี่ยวข้องกับกลุ่มญิฮาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ที่เป็นพันธมิตรกับทั้งอัลกออิดะห์และไอซิส ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศ
บาซูมได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2564 และเขาเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของฝรั่งเศสและชาติตะวันตกอื่นๆ ทั้งนี้ ไนเจอร์ประสบกับเหตุการณ์รัฐประหาร 4 ครั้ง นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2503 รวมถึงความพยายามก่อรัฐประหารอีกหลายครั้ง
ที่มา: