ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ด้านการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ เผยภาวะเจ็บป่วยที่ต้องระวังก่อนขึ้นเครื่องบิน แนะตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง อย่าละเลยจนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ยันสนามบินพื้นที่พิเศษ ต้องปฏิบัติตามหลักการบินสากลเคร่งครัด

กรณีเหตุการณ์ ญาติผู้ป่วยสูงวัยประสบปัญหาไม่สามารถขอให้รถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 เข้าพื้นที่สนามบินได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลอดภัยพิเศษ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย ถึงการรับมือผู้ป่วยฉุกเฉินของผู้เกี่ยวข้องในสนามบิน และระบบการทำงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' จึงติดต่อสัมภาษณ์ พญ.ณิชยา วัฒนกำธรกุล แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ ถึงการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ อาจเกิดกับครอบครัวใดก็ได้

พญ.ณิชยา กล่าวว่า หากมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกร่างกายไม่ปกติ ก่อนขึ้นเครื่อง จำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพก่อน เนื่องจากมีหลายภาวะที่อาจกลายเป็นปัญหาได้

"มันมีหลายๆ ภาวะที่จะมีปัญหาข้างบนเครื่องได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับลม เพราะอากาศพอมันขึ้นที่สูง มันจะขยายตัว ลองนึกเวลาเราเอาขนมก๊อบแก๊บไปกินบนเขา เวลาไปเที่ยวดอย ถุงบวมแน่นกว่าตอนที่ซื้อมันข้างล่าง หรือ พวกน้ำ-โยเกิร์ตถ้าบนเครื่องมันจะเบ่งๆ แน่นๆ กว่าบนพื้น เพราะอากาศมันขยายตัว"

ดังนั้น อาการในลักษณะลำไส้อุตตัน (ปวดท้อง ท้องอืด ไม่ผายลม ไม่อุจจาระ) ปอดแตก (เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย) มีความผิดปกติของเนื้อปอดที่เป็นถุงลมโป่ง อาการพวกนี้เสี่ยงไปแตกข้างบนเครื่องได้

รวมไปถึงภาวะร่างกาย หลังการผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าบริเวณศีรษะ ดวงตา และช่องท้อง สภาพเหล่านี้บางทีมีลมค้างอยู่ เมื่อขึ้นเครื่องบินไปมีโอกาสท้องอืดและปวดท้องได้ ตามหลักวิชาการจะมีระบุอย่างชัดเจนว่า หลังการผ่าตัดกี่ชั่วโมง ลมและแก๊สถึงจะสลายตัวและสามารถเดินทางขึ้นเครื่องบินได้

"การผ่าตัดลักษณะที่ต้องเปิดกะโหลกเข้าไป มีอากาศในเนื้อสมอง พออากาศมันขยายตัวเมื่อเวลาอยู่บนเครื่อง จะมีผลให้เกิดความดันในสมองสูง บางทีมันไปดันเนื้อสมอง และมีผลให้ซึมลงหรือเกิดอาการชักได้ เช่นกันถ้าเป็นการลอกต้อหรือเลเซอร์ ต้องรอ 24 ชั่วโมง แต่หากเป็นลักษณะผ่าตัดเปิดดวงตา กระบวนการผ่าตัดตัดต้องมีแก๊สเข้าไป หลังผ่าจึงต้องรอให้แก๊สสลายตัวก่อน ไม่เช่นนั้นอาจขยายตัว จนความดันในลูกตาสูงจนเกิดอันตรายแผลปริบนเครื่องบินได้"

พญ.ณิชยา กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ที่ดำน้ำลึกมาใหม่ๆ ต้องรอให้สภาพร่างกายกลับมาอยู่ในภาวะปกติ หลังจากเผชิญกับอากาศละลายในเลือดขณะอยู่ใต้น้ำ และละลายออกมาเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยใช้เวลาประมาณ 24–48 ชั่วโมงก่อนจะขึ้นเครื่องบิน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการ ‘น้ำหนีบ’ โรคที่เกี่ยวข้องกับระดับแก๊สในเลือด ซึ่งมีผลทำให้เกิดการอุดตันที่ปอด หลอดเลือดสมองและหัวใจได้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่มีอาการหอบเหนื่อย ต้องสูดดมออกซิเจน (O2) เมื่อขึ้นไปบนเครื่องบิน จะรู้สึกเหนื่อยกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องแจ้งสายการบินให้เตรียมออกซิเจนไว้ เนื่องจากบนเครื่องมีจำกัด เฉพาะเวลาฉุกเฉินเท่านั้น

ปัญหายังรวมไปถึงกลุ่มคนไข้ต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ บางคนไม่กล้าใส่แมส กลัวเขาไม่ให้ขึ้นเครื่อง จนสุดท้าย ติดเชื้อกันหมด เพราะอากาศในเครื่องมันวนกันอยู่ในนั้น

"อาการไซนัสเอง ขึ้นไปก็ปวดทรมาน จริงๆ พอมียาบรรเทาอาการพวกนี้ได้ เราก็สามารถเตรียมตัวเองก่อนขึ้นเครื่องได้เช่นกัน"

พญ.ณิชยา ทิ้งท้ายว่า ผู้คนจำนวนมากชอบเก็บความผิดปกติของร่างกายไว้อย่างเงียบๆ กลัวไม่ได้ขึ้นเครื่อง กลัวยุ่งยาก ต้องไปขอใบรับรองแพทย์ แต่กลับไม่ได้คิดว่า ถ้าขึ้นไปแล้วเกิดอะไรขึ้น จะเกิดปัญหากันหมดทั้งลำ บางทีต้องหาที่ลงฉุกเฉิน บางทีอันตรายถึงชีวิต บนเครื่องนั้นไม่ได้มีหมอพยาบาลทุกไฟล์ท และไม่มีอุปกรณ์มากขนาดที่จะรักษาได้ทุกโรค

"ถ้ารู้สึกว่าไม่ปกติ แวะไปตรวจก่อน แล้วถามหมอว่าขึ้นเครื่องได้ไหม จะปลอดภัยกว่าค่ะ" พญ.ณิชยาแนะนำ

สนามบินปฏิบัติตาม ICAO

นพ.สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู แพทย์ด้านการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ระบุว่า ความปลอดภัยในพื้นที่สนามบิน เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นมาตรฐานโลก ไม่สามารถปล่อยให้รถฉุกเฉินจากภายนอกที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมเข้าไปในภายในได้ เนื่องจากอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่คาดไม่ถึงตามมา

"สนามบินเป็นพื้นที่พิเศษ จะเอารถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้ยืนยันตัวตนล่วงหน้า เข้าไปรอรับภายในสนามบินเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มันมีวิธีการขับภายในรันเวย์ เส้นทางและแนวปฏิบัติอื่นๆ อย่างชัดเจน เกิดปล่อยให้เข้าไปแล้วมีคนขับผิดทาง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติผิดวิธีเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา สนามบินแทบปิดทันที" นพ.สรฤทธิ์ กล่าวและว่าเป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกยึดถือ ไม่เฉพาะแค่เมืองไทย

แพทย์ด้านการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ระบุว่า สิ่งสำคัญคือความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น หากรับรู้ว่าตัวเองมีภาวะผิดปกติของร่างกาย จำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพ ขอคำปรึกษาจากแพทย์ และแจ้งต่อสายการบินอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา มิเช่นนั้นหากปล่อยให้ความเจ็บป่วยไปแสดงอาการบนเครื่องบิน อาจมีปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ไม่เฉพาะแค่กับตัวผู้ป่วยเอง แต่ยังรวมไปถึงสายการบินและผู้โดยสารท่านอื่นๆ ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :