ข่าวลือเปลี่ยนตัวนายกฯ ประจวบเหมาะกับช่วงวันคล้ายวันเกิด โทนี่ วูดซัม หรือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งครบรอบ 72 ปี พอดีเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564
มาในห้วงที่ ทักษิณ ประกาศพร้อมจะเดินทางกลับประเทศไทยในเวลาที่เหมาะสม ส่วนวิธีการเป็นอย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบ แต่ดูจากน้ำเสียงของโทนี่แล้ว เห็นว่ามีความมั่นอกมั่นใจพอสมควร
ข่าวลือเปลี่ยนตัวนายกฯนี้มาพร้อมกับกระแสนายกฯพระราชทาน
บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง คนที่โพสต์ข้อความเป็นคนแรกๆ บอกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีโอกาสเป็นนายกฯพระราชทาน ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ได้จากบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองได้
กระนั้น กระแสนายกฯพระราชทาน คนส่วนหนึ่งกลับพุ่งเป้าไปที่ ทักษิณ ชินวัตร เสียมากกว่า โดยมองว่า ทักษิณ มีโอกาส ได้เป็นนายกฯพระราชทาน เพราะเจ้าตัวส่งสัญาณมาร่วมเดือนแล้วว่าจะได้กลับบ้าน
มิหนำซ้ำ บรรดาคนเคยรัก "ประยุทธ์" ต่างเรียงหน้าออกมาไล่ไม่เว้นแต่ละวัน
จึงทำให้ลือกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยอมสละเรือ เปิดทางให้คนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าแทน และไม่สามารถกาชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย ออกไปได้
กระนั้น ข่าวลือเช่นนี้ ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย และมีบ่อยครั้งไปที่ข่าวลือถูกสร้างขึ้นเพื่อหยั่งเสียง วัดกระแสผลตอบรับว่าแนวทางหรือข้อเสนอนั้น จะเป็นที่ยอมรับมากน้อยเพียงใด
สำหรับกรณีนี้ โลกทวิตเตอร์ พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #กูไม่เอานายกฯพระราชทาน แสดงออกถึงการไม่สนับสนุนให้มีนายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกจริง กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถขับเคลื่อนได้โดยการเลือกนายกฯคนใหม่ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมา
ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกแล้วใช้ช่องทางการเลือกนายกฯใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ชื่อของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะมีโอกาสได้เป็นนายกฯคนต่อไปมากที่สุด เพราะฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ ผู้ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อให้เป็นนายกฯนั้น ไม่มีบทบาทในพรรคแล้ว
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ข่าวเสียงแข็งว่า นายกฯพระราชทานไม่มีในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ก็ต้องกลับมาดูว่าตอนที่มีการเลือกตั้งนั้น เเต่ละพรรคเสนอใครเป็นนายกฯบ้าง ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ก็ต้องไปดูรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าเหลือใครบ้าง จึงไม่มีช่องทางที่จะมีนายกฯ พระราชทาน
ขณะที่คณะก้าวหน้า ได้เผยแพร่บทความ "บทเรียนนายกฯพระราชทาน ข้อเสนอที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย" โดยย้ำว่า 15 ปีผ่านไป คำว่า “นายกฯ พระราชทาน” กลับมาอีกครั้ง ในวันที่ความนิยมในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันลดฮวบ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดช่องให้มี “ข้อยกเว้น”
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาในการเสนอเรื่อง 2ใน 3 ของสองสภาในการมีมติยกเว้น และกึ่งหนึ่งของสองสภาในการมีมติเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นหมายความว่า เราอาจมี “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อต้องใช้เสียงมากถึงกึ่งหนึ่งของสองสภาและ 2ใน 3 ของสองสภาเช่นนี้ ต้องมีปัจจัยใดล่ะที่จะทำให้ได้เสียงมากขนาดนี้ จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า นี่คือ การติดตั้ง “นายกฯ พระราชทาน” ไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อย
“คณะก้าวหน้า” เราจึงขอประกาศจุดยืนต่อกรณีนี้อีกครั้ง #กูไม่เอานายกพระราชทาน #นายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน และไม่เห็นด้วยกับ “นายกฯฯพระราชทาน” ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม
มีรายงานจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ประเมินกระแสไม่เอานายกฯพระราชทาน มองว่าเป็นการเต้าข่าว ไม่เป็นความจริง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำอะไรผิด จึงเห็นว่าเป็นการปั่นกระแสเสียมากกว่า
ฝ่ายความมั่นคงยังประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลาออกหรือยุบสภา ภายใน 1 ปีครึ่งนี้อย่างแน่นอน โดยประเมินจากนิสัยส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นชายชาติทหารสูงมาก ไม่ใช่คนที่จะยอมทิ้งประเทศชาติและประชาชนให้เผชิญกับปัญหาลำพัง แล้วเอาตัวรอดคนเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง