นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เฝ้าระวังการปนเปื้อนสาร N-Nitrosodimethylamine (NDMA) ใน ยา Ranitidine ซึ่งเป็นยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็กส่วนต้น โดยมีการเก็บตัวอย่างเภสัชเคมีภัณฑ์และยาสำเร็จรูป ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 รวมถึงรวบรวมรายงานผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการของภาคเอกชน พบมีเพียงแหล่งเภสัชเคมีภัณฑ์ Union Quimico Farmaceutica, S.A.S ราชอาณาจักรสเปน เพียงแหล่งเดียวที่มีการปนเปื้อนของสาร NDMA ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน และเมื่อนำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูปแล้วยังมีค่าการปนเปื้อนไม่เกินค่ามาตรฐานอีกด้วย แต่ด้วยปริมาณของ NDMA จะเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาของการเก็บรักษายา อย. ห่วงใยผู้บริโภคอาจได้รับสารก่อมะเร็งสะสมจากยา Ranitidine จึงให้มีการเรียกคืนยา Ranitidine รูปแบบยาเม็ด สำหรับรับประทานทุกทะเบียนตำรับยา และทุกรุ่นการผลิต รวมทั้งยาฉีดทั้งหมดยกเว้นบางทะเบียนตำรับยา โดยผู้รับอนุญาตทั้งผลิตและนำเข้าที่มีทะเบียนยา Ranitidine ได้สมัครใจเรียกเก็บคืนยาจากท้องตลาดไปจำนวนมากแล้ว
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าหวั่นวิตกว่าจะเกิดมะเร็งจากการได้รับยา Ranitidine เพราะการใช้ยานี้โดยปกติจะใช้รักษาในระยะเวลาเพียง 7-14 วัน และเนื่องจากสาร NDMA สามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดินและน้ำ รวมถึงอาหารปิ้งย่างทั่วไป ปริมาณที่ยอมให้ปนเปื้อนได้ทั้งในสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะก่อให้เกิดมะเร็งได้ต้องใช้เวลาในการได้รับสารดังกล่าวนานถึง 70 ปี สำหรับการปนเปื้อนสาร NDMA ในยา Ranitidine เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุและอาจเกิดจากการสลายตัวของตัวยาเองด้วย รวมทั้งยังอาจเกิดจากขั้นตอนการผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์ มิใช่ในขั้นตอนการผลิตยาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้กับผลิตภัณฑ์ยา Ranitidine ที่จำหน่ายทั่วโลก
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจสอบยาที่ใช้อยู่ว่ามีตัวยาสำคัญชื่อ Ranitidine หรือไม่ หากมีขอให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในเรื่องการใช้ยาตัวอื่นในการรักษาต่อไป สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ขอให้ระงับการจ่ายยา Ranitidine รูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทานทุกทะเบียนตำรับยา รวมถึงยาปราศจากเชื้อสำหรับฉีดบางทะเบียนตำรับ และขอให้ใช้ยาอื่นในกลุ่ม H2-blockers เช่น Cimetidine Famotidine หรือยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) เช่น Omeprazole Lansoprazole Pantoprazole แทนยา Ranitidine รูปแบบรับประทาน โดยขอให้ขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาของแต่ละโรค
นพ.สุรโชค กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการเฝ้าระวังของ อย. หากมีข้อมูลเพิ่มเติม จะเร่งแจ้งให้ทราบโดยทันที หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ email : [email protected] หรือ โทร 0 2590 7325, 0 2590 7405
Photo by Hal Gatewood on Unsplash