ไม่พบผลการค้นหา
ครบรอบ 89 ปี เหตุการณ์เปลี่ยนการปกครอง 24 มิ.ย.2475 เป็นอีก ‘วันเชิงสัญลักษณ์’ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ยุคคนเสื้อแดง-นปช. ที่ประกาศต่อสู้กับ ‘อำมาตยาธิปไตย’ มาถึงกลุ่มเยาวชนปลดแอก-ราษฎร63 ผ่านข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่เรียกว่า ‘ทะลุเพดาน’

พลังขับเคลื่อน ‘คนเสื้อแดง’ ถูกส่งต่อมายัง ‘คนรุ่นใหม่’ ตั้งแต่ปี63 แม้ทั้งสองเจเนเรชั่นจะมี ‘วัฒนธรรมทางการเมือง’ ต่างกัน แต่ก็มีจุดหมายที่ยืนบนหลักการเดียวกัน คือ ‘ประชาธิปไตย’ และต่อต้าน ‘รัฐประหาร-สืบทอดอำนาจ’ 

ผ่านมา 10 กว่าปี การต่อสู้ของคนเสื้อแดง แม้ถูกสลายลงไปบ้าง และการแยกทางกันเดินของระดับแกนนำ นปช. แต่หลักการดั้งเดิมยังคงอยู่ในใจคนเสื้อแดง

ส่วน’กลุ่มปลดแอก-ราษฎร-รีเดม’ คือ ‘คนรุ่นใหม่-ตาสว่างใหม่’ ที่มารับช่วงต่อ เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยมีจุดตัดสำคัญ คือ การยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้ก่อตัว ‘แฟลชม็อบ’ ขยายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ และลงไปถึงนักเรียนมัธยม ด้วย จากนั้นช่วง ก.ค. 2563 เป็นต้นมา การการชุมนุมและข้อเรียกร้องได้ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็น ‘ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย’

ผ่านมาเกือบ 1 ปี การต่อสู้ถูกท้าทายจากสถานการณ์โควิดระบาด รวมทั้งบรรดาแกนนำถูกจับกุมด้วยคดีการชุมนุมครั้งต่างๆ และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลายคน และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างมี ‘เงื่อนไข’

ทำให้การชุมนุม ‘สะดุด-เว้นวรรค’ ไปช่วงเม.ย.-ปัจจุบัน โดยการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นช่วงท้ายๆ คือ ‘กลุ่มรีเดม’ ที่ไปตามพื้นที่สัญลักษณ์ต่างๆ ช่วง ก.พ.-มี.ค. 2564 ที่เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่าง ตร. กับผู้ชุมนุมขึ้น

จตุพร สามัคคีประชาชน ม็อบ ยุติไทยไม่ทน_210407.jpg

ต่อมา ‘กลุ่มไทยไม่ทนฯ’ นำโดย ‘ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์’ ประธาน นปช. ได้มารับช่วงต่อ โดยได้จับมือกับ ‘คนยุคพฤษภาทมิฬ 2535’ นำโดย ‘อดุลย์ เขียวบริบูรณ์’ ปธ.คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา35 ในการตั้งเวทีที่สวนสันติพร ถ.ราชดำเนิน เป็นการรวมตัวของอดีตคนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ที่ออกมาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงต้นเดือน เม.ย.64 

แต่ก็สะดุดด้วยสถานการณ์โควิด เปลี่ยนไปตั้งเวทีผ่านระบบออนไลน์ ที่พีซทีวีแทน ก่อนโหมโรง แรมเดือนนัดชุมนุม 24มิ.ย. ที่ ทำเนียบรัฐบาล โดยจับมือกับ ‘ทนายนกเขา’นิติธร ล้ำเหลือ อดีตแกนนำพันธมิตร-คปท. ในนามกลุ่มประชาชนคนไทย ที่จับมือกับ ‘กลุ่มเพื่อนอานันท์ ปันยารชุน’ อย่าง ‘ปรีดา เตียสุวรรณ์’ ที่เป็นกลุ่มคนยุคพฤษภาทมิฬ 2535 

ทั้งนี้ ‘ตู่-จตุพร’ ได้นำ ‘กลุ่มไทยไม่ทนฯ’ ไป ทำเนียบฯ หลายครั้ง ส่วน ‘ทนายนกเขา’ ก็เช่นกัน เพื่อย้ำจุดยืนแต่ละฝ่าย

ล่าสุด ‘จตุพร’ ได้เปิดแผนชื่อว่า “ยุทธการแม่น้ำร้อยสาย แผนพิฆาตฟ้าทลายโจร” โดยมีคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่เป็น ‘กุนซือ’ ในกลุ่มไทยไม่ทนฯ โดย ‘เมธา มาสขาว’ เลขาธิการ ครป. ได้เปิดแผน “ร้อยบุปผา รวมพลังแม่น้ำร้อยสาย” ขึ้นมาควบคู่

คณะราษฎร รัฐสภา พริษฐ์ เพนกวิน ปนัสยา ภาณุพงศ์ 6B97815C-7C82-45AB-B0BC-93EBB7A6E1D4.jpeg

โดยคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “แม่น้ำร้อยสาย” ที่เปรียบเป็นการรวมกลุ่มต่างๆเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มไทยไม่ทนฯกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ “ราษฎร-รีเดม” ที่มีจุดยืนต่างกันอยู่บ้าง แต่มีจุดร่วมกันคือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ตามแนวทาง “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” นั่นเอง 

โดยมีความเชื่อที่ว่า หากไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปได้ ก็จะเป็นการปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ รสช. ออกไปได้ จึงนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี2540 นั่นเอง

ล่าสุดกลุ่มไทยไม่ทนฯ ได้เพิ่มข้อเรียกร้องมากขึ้น ที่เป็นเรื่องระดับโครงสร้างมากขึ้น นั่นคือการปฏิรูปกองทัพและ ตร. และร่าง รธน. ฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

สำหรับชื่อแผน ‘ฟ้าทะลายโจร’ หนึ่งในแกนนำไทยไม่ทนฯ ระบุว่า ความหมายซ่อนอยู่ในชื่ออยู่แล้ว ให้ตีความกันเอง

ทว่ากลุ่มไทยไม่ทนฯ-ครป. มีจุดยืนชัดเจนไม่เอานายกฯคนนอก

ส่วนกลุ่มของ ‘ทนายนกเขา’ เสนอให้มีนายกฯคนนอก เพราะไม่เชื่อมั่นรายชื่อแคนดิเดทนายกฯบัญชีพรรคต่างๆในปัจจุบัน ทำให้ทั้งสองกลุ่มจึง ‘แยกกันเดิน แต่รวมกันตี’

สำหรับฝ่ายความมั่นคง เตรียมรับมือการชุมนุม 24 มิ.ย. ของกลุ่มไทยไม่ทนฯ ที่จะเดินจากสะพานผ่านฟ้ามายังทำเนียบฯ ช่วงเวลา 16.00น. , กลุ่มราษฎร จัดกิจกรรมแต่เช้าตรู่ เวลาย่ำรุ่ง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นช่วง 10.00น. จะเคลื่อนขบวนมายังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึงสภา ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ทั้งฉบับ และเพื่อย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้องที่ไม่มีการลดเพดาน

จากนั้นช่วงเย็นนัดชุมนุมที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยมี ‘คณะก้าวหน้า’ ร่วมชุมนุมด้วย นำโดย ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ พร้อมแกนนำกลุ่ม Re-Solution ที่เดินเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน โดย ตร. ได้เตรียมกำลัง 17 กองร้อย ในการรับมือการชุมนุมในพื้นที่ กทม.

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24มิ.ย.2475 ในนามกลุ่มภาคเครือข่ายต่างๆ คู่ขนาน กทม. ด้วย

การตั้งเวทียังคงแบ่งเป็น 2 จุดใน กทม. ตามจุดยืนของทั้ง 2 ฝ่าย ที่แตกต่างกัน แต่ปมปัญหาใหญ่ คือ ‘กลุ่มราษฎร-รีเดม’ มีท่าทีไม่วางใจการเคลื่อนไหวของ ‘ตู่-จตุพร’ ที่ในระยะหลัง ‘จตุพร’ ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนต่างๆ หลังพ้นโทษออกจากเรือนจำมา

ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคง มองปรากฏการณ์ของ กลุ่มไทยไม่ทนฯ ที่พยายามดึง ‘กลุ่มอื่นๆ-คนรุ่นใหม่’ ไปร่วมชุมนุม เพื่อ ‘ปรับจูนแนวคิด’ เข้าหากัน รวมทั้งเพื่อ ‘ลองเชิง’ ในการวางแผนการเคลื่อนไหวระยะต่อไป

ทว่าอีกด้านก็มีการมองว่ากลุ่มไทยไม่ทนฯ เป็น ‘ม็อบเด็กเส้น’ หรือไม่ ที่มีภารกิจมา ‘ลดเพดานข้อเรียกร้อง’ และเพื่อทำให้ ‘บรรยากาศการเมือง’ ไปในทิศทางที่เป็นบวกกับ ‘ผู้มีอำนาจ’ มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ต้องติดตามการเคลื่อนไหววันที่ 24 มิ.ย.นี้ จะทำให้เรายิ่งเห็นภาพ ‘มวลชน’ และ ‘พลัง’ ของแต่ละกลุ่ม แต่ไม่ว่าภาพจะออกมาอย่างไร วันนี้ ‘เพดานข้อเรียกร้อง’ มาไกลกว่าจะ ‘กดเพดานความคิด’ ให้ลดลงไป การช่วงชิง ‘พื้นที่ทางการเมือง’ จะยังคงมีต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog