คณะทำงานมอเตอร์ไซค์ปลอดภัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทดสอบประสิทธิภาพระบบเบรค ABS (Anti-Lock Braking System) และ CBS (Combined Braking System) ของรถจักรยานยนต์ เพื่อสร้างความปลอดภัย ณ TPRO Training จ.ฉะเชิงเทรา
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนทุกประเภทประมาณ 20 ล้านคัน และเป็นยานพาหนะหลักในการเดินทางของคนไทย เนื่องจากสะดวกและใช้เนื้อที่ในการจราจรน้อย อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดย ร้อยละ 75.7 ของการบาดเจ็บจากการจราจรของประเทศไทยนั้น เกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ระบบ ABS และ CBS ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการเบรคในรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีฉุกเฉิน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีนโยบายในการติดตั้งระบบ ABS หรือ CBS ในรถจักรยานยนต์คันใหม่ทุกคัน สำหรับประเทศไทยเองการทดสอบประสิทธิภาพเบรคถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายใหม่เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ในระยะถัดไป ซึ่งถือเป็นงานเฉพาะกิจด้านการแก้ปัญหาอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
(นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม )
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธาน สอจร. กล่าวว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายปราศจากสิ่งป้องกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุเหมือนกลุ่มผู้เดินถนนและขี่จักรยาน จากรายงานของสภาการขนส่งที่ปลอดภัยแห่งยุโรป (The European Transport Safety (ETSC) ) พบว่าในระยะทางเท่ากันการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถยนต์ 18 เท่า โดยประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนทุกประเภทประมาณ 20 ล้านคัน ในแต่ละปีจึงเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์สูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน สอจร. พบว่า ในปี 2557 จักรยานยนต์เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บในคนกลุ่มนี้ ถึง ร้อยละ 86.62 และตาย ร้อยละ 74.31 สาเหตุหลักไม่เพียงเกิดจากพฤติกรรมขับขี่เร็วเกินกฎหมายกำหนด เมาแล้วขับ และไม่สวมหมวกกันน็อคแล้ว ยังรวมถึงไม่มีระบบเบรคที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ ให้ข้อเสนอแนะว่าการติดตั้งระบบเบรค ABS หรือ CBS ในรถจักรยานยนต์ ช่วยลดจำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้
(นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธาน สอจร. )
นพ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากทุกการศึกษาทั่วโลกพบว่าระบบ ABS สามารถลดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ได้ โดยการศึกษาในเยอรมันพบว่ามีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ถึง ร้อยละ 85 ลดการบาดเจ็บรุนแรง ร้อยละ 8-17 ในออสเตรเลียลดอุบัติเหตุลงได้ ร้อยละ 55 การศึกษาในสวีเดน ร้อยละ 48 การศึกษาในอเมริกา ร้อยละ 37 และในอินเดีย ร้อยละ 33 ส่วนระบบ CBS มีข้อมูลสรุปว่าช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 6 – 26 ทว่าการติดตั้งระบบเบรคทั้งสองชนิด จะเพิ่มต้นทุนต่อราคารถจักรยานยนต์ ประเทศไทยจึงต้องมีการพิจารณาในเชิงนโยบาย โดยหากกฎหมายบังคับให้รถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคันติดตั้งระบบ ABS หรือ CBS เพิ่มขึ้น 1.8 ล้านคันจะสามารถลดการเสียชีวิต ต่อปีลงได้ 401 - 602 คน ลดการบาดเจ็บสาหัส 2,661 – 3,991 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 18,061 – 27,092 คน
“ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป บังคับให้รถจักรยานยนต์ขนาดมากกว่า 125 CC ทุกคันที่วางจำหน่ายต้องติดต้ังระบบ ABS สำหรับรถขนาด 50-125 CC ให้ใช้ระบบ ABS หรือ CBS ประเทศอินเดียและญี่ปุ่นประกาศใช้ปี 2561 ประเทศไต้หวันและออสเตรเลียปี 2562 ประเทศบราซิลใช้กับรถขนาดมากกว่า 300 CC ในปี 2562 และจีนรถขนาด 150 – 250 CC เลือกใช้ ABS หรือ CBS ขนาดมากกว่า 250 CC ใช้ ABS ในปี 2562 ตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศอินเดีย ประเทศกำลังพัฒนามีประชากรกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านคนการเสียชีวิตด้วยประชากรอินเดียมีจำนวนมาก การประมาณการขององค์การอนามัยโลกในปี 2556 คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในอินเดียสูงถึง 231,000 คน ทว่าเมื่อเทียบสัดส่วนการตายต่อแสนประชากรกลับต่ำกว่าประเทศไทย โดยครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รัฐบาลอินเดียต้องการลดอุบัติเหตุจึงออกกฎหมาย ให้รถจักรยานยนต์ขนาดมากกว่า 125 CC ทุกคน ที่วางจำหน่ายหลังเดือนเมษายน 2561 ต้องติดตั้งระบบ ABS สำหรับรถขนาด 50-125 CC ให้ใช้ระบบ ABS หรือ CBS ซึ่งจากการศึกษาของ The Automotive Research Association of India (ARAI) คาดประมาณว่าจะสามารถลดอุบัติเหตุ ลงได้ถึงหนึ่งในสาม โดยราคารถที่เพิ่มขึ้นหลังบังคับใช้กฎหมายให้ติดตั้ง ABS อยู่ที่ 8,000 – 10,000 Rs หรือ ประมาณ 3,700 – 4,600 บาท ส่วน CBS 1,000 – 2, 000 Rs หรือประมาณ 460 – 920 บาท”
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ระบบเบรค ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ใน รถจักรยานยนต์ BMW K100 ติดตั้งและวางจำหน่ายพร้อมระบบ electronic-hydraulic ABS ตั้งแต่ปี 2531 หลังจากนั้นเป็นต้นมา รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ในท้องตลาดเริ่มมีการติดตั้งระบบกันอย่างแพร่หลาย การทำงานเป็นระบบเหมือน ABS ในรถยนต์ คือเพื่อแก้ปัญหาการล็อคล้อจากการเบรคกระทันหันซึ่งทำให้รถจักรยานยนต์ลื่นไถลต่อไปข้างหน้าจากแรงจากแรงเฉื่อย และการไถลไปข้างหน้านี้ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถควบคุมทิศทางการเลี้ยวหลบของรถเนื่องจากสูญเสียแรงที่เกิดขึ้นด้านข้างของล้อ (แรงเกาะถนน) เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบ่อยครั้งทั้งจากการเบรคกระชั้นชิด หรือการเบรคกรณีถนนลื่น กลไกที่ระบบ ABS ทำคือการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเร็วและอัตราเร่งของแต่ละล้อ เมื่อเกิดการเบรคเซนเซอร์จะส่งสัญญาณให้แรงของดิสเบรคห้ามล้ออย่างเหมาะสมโดยไม่เกิดการล็อคล้อ ประโยชน์ของระบบ ABS คือ 1. ระยะเบรคลดลงเซนเซอร์และระบบการควบคุมแรงกดต่อดิสเบรคจะทาให้ระยะ
การเบรคน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไป ผลการทดสอบที่จัดทำ โดย National Highway Traffic Safety Administration ของอเมริกาทดสอบการเบรคที่ความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. พบว่าระบบ ABS สามารถลดระยะทางทั้งบนถนนที่ แห้งและถนนเปียกถึงร้อยละ 9.8 – 32.4 ขึ้นกับสภาพถนนและนา้ หนักบรรทุก แตส่ าหรับถนนโรยกรวด ระยะเบรคกลับเพิ่มขึ้นสำหรับการศึกษาที่ออสเตรเลียพบว่าลดระยะเบรคลงได้ 5.7-7.8 เมตร 2. การควบคุมทิศทางกรณีเบรคกระทันหันเซนเซอร์จะป้องกันการล็อคล้อ ป้องกันปัญหาการลื่นไถลส่งผลให้เกิด แรงด้านข้างของล้อ (แรงเกาะถนน) ดั้งน้ัน การควบคุมทิศทางจึงทำได้ต่อเนื่อง และ 3. การเบรคบนถนนลื่นดีขึ้นแรงเบรคของทั้งสองล้อจากระบบเซนเซอร์ จะป้องกันปัญหารถปัดจากการ กระจายแรงเบรคที่ไม่สมดุลย์ระหว่างล้อหน้ากับล้อหลัง
ขณะที่ระบบเบรค CBS บริษัท Honda ได้พัฒนาและติดตั้งสู่ท้องตลาดเมื่อปี 2526 หลักการทำงานคือการทำให้เกิดแรงเบรคจากล้อทั้งสองด้วยการเบรคด้วยมือหรือเท้าเพียงอย่างเดียว จากการวิจัยของ National Highway Traffic Safety Administration ของอเมริกา พบว่าระบบ CBS มีระยะเบรคสั้นกว่าการเบรคด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามระบบนี้หากเบรครุนแรงจะไม่สามารถป้องกันการล็อกล้อได้เหมือนระบบ ABS
(รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ )
ด้าน ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเสริมว่า การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อปี 2559 ที่พบว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน มีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย ในขณะที่การบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย รวมมูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท หากรัฐบาลไทยผลักดันการติดตั้งระบบเบรค ABS หรือ CBS ในรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคัน ซึ่งหากเทียบเคียงราคาจากประเทศอินเดีย จะมีต้นทุนคันละ 4,000-5,000 บาท โดยรวมจะใช้ต้นทุนในการดำเนินนโยบายเพื่อติดตั้ง ประมาณ 7-9 พันล้านบาท ตามการขยายตัวของรถจักรยานยนต์ใหม่ ช่วงปี 2559-2560 ที่ ร้อยละ 4.5 ต่อปี เมื่อดำเนินการไปครบระยะแรก 5 ปี จะช่วยลดและป้องกันการสูญเสียลงได้ 6,000-9,000 ราย คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาท
(ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) )