ไม่พบผลการค้นหา
สรุป 2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีของประชาชนผู้เสียภาษีเลือกอย่างไรให้ได้ประโยชน์ หลัง 'ช้อปดีมีคืน - คนละครึ่ง' ออกมาพร้อมกันแต่ให้เลือกได้แค่หนึ่ง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาในช่วงปลายปี เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ผ่าน 'คนละครึ่ง' และ 'ช้อปดีมีคืน' ได้เริ่มต้นใช้สิทธิไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ตามเงื่อนไขมีข้อกำหนดว่าประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมได้เพียง 1 มาตรการเท่านั้น แล้วแบบไหนได้ประโยชน์มากกว่ากัน 'วอยซ์ออนไลน์' สรุปให้ดังนี้

ม็อบ 21 ต.ค. รถพ่อค้าแม่ค้าอนุสาวรีย์ชัย

‘คนละครึ่ง’ รัฐจ่ายให้สูงสุด 3,000 บาท แต่จำกัดวันละ 150 บาท

'คนละครึ่ง' มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย เปิดให้ลงทะเบียนในส่วนของร้านค้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ส่วนประชาชนเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2563 โดยมีเป้าหมายที่ 10 ล้านคน

เงื่อนไขการใช้สิทธิ คือ

  • บุคคลสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • ต้องไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com
  • รัฐช่วยจ่าย 50% ผู้ได้รับสิทธิจ่ายเอง 50% โดยใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
  • จำกัดสิทธิไม่เกิน 150 บาทต่อวัน โดยที่ยอดรวมการใช้สิทธิไม่เกิน 3,000 บาทตลอดโครงการ
  • แต่ใช้สิทธิได้เฉพาะที่ร่วมโครงการฯเท่านั้น และใช้ได้เฉพาะเวลา 06.00-23.00 น.
  • ทั้งนี้หากลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่ไช้สิทธิภายใน 14 วัน ระบบจะทำการตัดสิทธิตลอดโครงการ
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563
ชอปปิ้ง-ห้างสรรพสินค้า-เศรษฐกิจ


'ช้อปดีมีคืน' จ่าย 3 หมื่นบาท ได้คืนแค่ 1,500 บาท หากฐานภาษีแค่ 5%

'ช้อปดีมีคืน' เป็นรายการลดหย่อนภาษี ไม่ไช่ ลดภาษี ดังนั้นก่อนที่จะใช้ต้องตรวจสอบก่อนว่า เสียภาษีหรือไม่ เสียในอัตราเท่าใด และจะประหยัดภาษีได้จำนวนเท่าไหร่

ยกตัวอย่างบุคคลที่มีฐานการเสียภาษีอยู่ที่ 5% หรือมีรายได้ 150,001-300,000 บาท หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มจำนวนที่ 30,000 บาทจะประหยัดภาษีได้เพียง 1,500 บาท ส่วนบุคคลที่มีฐานการเสียภาษีที่ 10% หรือมีรายได้ 300,001-500,000 บาท ใช้สิทธิเต็มจำนวนจะประหยัดภาษีได้ 3,000 บาท แต่ในขณะที่บุคคลที่มีฐานการเสียภาษีอยู่ที่ 35% หรือมีรายได้สุทธิต่อปีอยู่ที่ 5,000,001 ขึ้นไป หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มจำนวนที่ 30,000 บาทจะประหยัดภาษีได้ถึง 10,500 บาท

เงื่อนไขการใช้สิทธิ คือ

  • ต้องเป็นผู้เสียภาษีปี 2563
  • ต้องไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ไม่ต้องลงทะเบียน มีเพียงใบกำกับภาษี
  • นำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุด 30,000 บาท
  • จำกัดเฉพาะสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม, สินค้าโอทอป, หนังสือ (ยกเว้นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, บุหรี่, ล็อตเตอรี่, น้ำมัน, ค่าที่พัก, ตั๋วเครื่องบิน)
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563
ประชาชน รถไฟฟ้า เศรษฐกิจไทย-การท่องเที่ยว-กำลังซื้อ-ผู้บริโภค-ภาษี-ดอกเบี้ย-หนี้สาธารณะ

'คนละครึ่ง' เหมาะกับผู้มีฐานภาษีต่ำ ส่วน 'ช้อปดีมีคืน' เหมาะกับผู้มีฐานภาษีสูง

เมื่อเทียบทั้ง 2 มาตรการจะพบว่า ‘คนละครึ่ง’ เหมาะกับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เพราะหากใช้สิทธิที่เป็นเงินส่วนตัวร่วมจ่าย 3,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือถึง 3,000 บาทเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่ ‘ช้อปดีมีคืน’ เหมาะกับผู้ที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์เสียภาษี ยกตัวอย่างอัตราภาษีที่ 10% หากอยากได้รับเงินคืน 3,000 จะต้องจ่ายเงินส่วนตัวซื้อสินค้าถึง 30,000 บาท ดังนั้นจึงอาจจะไม่คุ้มค่าหากซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น

หาบเร่แผงลอย - ถนนคนเดิน-สีลม-เศรษฐกิจ-ถนน

ร้านค้าเมิน  ‘คนละครึ่ง’ พึ่งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตามเป้าหมายลงทะเบียนของประชาชน 10 ล้านคนจะพึ่งเต็มสิทธิไปหมาดๆ แต่ในส่วนของร้านค้าทั้งประเทศ ได้มีการลงทะเบียนเพียง 3.8 แสนร้านค้า ยังมีร้านค้ารายย่อยอีกจำนวนมาก ไม่สนใจ หรือยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนร่วมสิทธิเพราะไม่มีร้านที่จะใช้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นโครงการพบว่ามีการใช้จ่ายเพียง 100 ล้านบาทต่อวันเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลอยากให้มีเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจถึง 60,000 ล้านบาท จากเงินส่วนของประชาชน 30,000 ล้านบาท เงินงบประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต้องมากกว่า 434 ล้านบาทต่อวัน

ดังนั้นจะเห็นว่าชุดมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง ‘คนละครึ่ง’ กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ หรือคุ้มค่าที่สุด คือ ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี และร้านค้ารายย่อย ขณะที่ ‘ช้อปดีมีคืน’ กลุ่มคนจะได้ประโยชน์ หรือคุ้มค่าที่สุด คือ ผู้ที่มีฐานภาษีสูง เหมาะกับผู้มีแผนซื้อสินค้าราคาสูงช่วงปลายปี

ส่วนผู้ที่มีฐานภาษีน้อย อาจต้องพิจารณาด้วยว่า สินค้าที่จะซื้อนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะหากต้องซื้อของมูลค่า 30,000 บาท เพื่อแลกกับส่วนลดเพียงแค่ 1,500 บาท อาจไม่คุ้มค่า และอาจจะเป็นการก่อหนี้เพิ่มโดยใช่เหตุ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog