ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน จัดกิจกรรม “เดินทาง เว้าแทนปลา ทวงชีวิตคืนแม่น้ำโขง”พูดแทนปลาในแม่น้ำโขง หลังเกิดกระแสน้ำแบบผันผวน-ระบบนิเวศพัง หารือก่อนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอรัฐเยียวยาประมงพื้นบ้านแบบเร่งด่วน เสนอตัวขอภาคประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เข้าหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ และผู้แทนกระทรวงเกษตร โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐ หลังแม่น้ำโขงผันผวน โดยเฉพาะสัตว์น้ำ กระแสน้ำ-น้ำขึ้น-น้ำลง ที่เปลื่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานภาครัฐเลย วันนี้จึงได้เดินทางมาหารือ เพื่อให้รัฐบาล หามาตรการเยียวยากับชาวบ้าน ที่ทำประมงน้ำจืดในพื้นที่ 7 จังหวัด หลังได้รับผลกระทบจากการเปลื่ยนแปลงระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ยังยื่นข้อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอสำคัญ อาทิ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงในทุกเรื่อง เรียกร้องให้ไทยไม่รับชื้อไฟฟ้าจากทางฝั่งประเทศลาว เพื่อไม่ให้มีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก 


ภายหลัง อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ทางกลุ่มได้มาสะท้องปัญหาถึงการเปลื่ยนแปลงในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิต ทั้งรายได้และอาชีพของชุมนุม โดยทางกลุ่มเสนอให้มีกลไกลร่วมในการเข้าไปดูแลปัญหานี้ โดยจะนำเนื้อหาสิ่งที่เสนอในวันนี้ไปเสนอต่อยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ให้ทันต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและสอดคล้องกับแนวทางเดิม เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแม่น้ำโขง หวังเปิดพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง จะพัฒนาให้เชื่อมเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ ประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีรายได้และอาชีพ 

อลงกรณ์ ยังกล่าวว่า ปัญหาแม่น้ำโขง เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข เพราะเป็นแม่น้ำนานาชาติไหลผ่านในหลายประเทศ ดังนั้นทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงจึงต้องช่วยกัน ไม่ผลักภาระไปให้กับองค์กรชุมชนเพียงอย่างเดียวที่เป็นภาคประชาชนเท่านั้น และกระทรวงเกษตรฯ ก็ยินดีที่จะเข้าไปดูแลแก้ไขเรื่องนี้ รวมถึงสร้างอนาคตไปด้วยกัน 

ส่วนกรณีที่มีการสร้างเขื่อนเดิมอยู่แล้ว กับเตรียมสร้างใหม่ เพื่อกั้นแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีเพียงแต่ชาวบ้านที่ร้องเรียนเรื่องนี้ แต่ในฐานะที่เป็นฝั่งภาครัฐ จะแสดงต่อบทบาทนี้อย่างไรแทนชาวบ้าน เรื่องนี้อลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้เคยแสดงความกังวล และไม่เคยนิ่งนอนใจ เคยเสนอไปถึงองค์กรระหว่างประเทศหลายครั้งแล้ว เวลาที่มีการสร้างเขื่อนใหม่ ในลุ่มแม่น้ำโขง

ซึ่งเชื่อว่าเรื่องมาร้องเรียนในวันนี้จะถูกนำไปเสนอต่อรัฐบาล พร้อมมองว่าแนวทางที่ดีที่สุด คือ การเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังมีข้อกังวลของหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย หลังเกิดการเปลื่ยนแปลงในลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ระบบนิเวศที่เปลื่ยนอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด ปรากฏการณ์น้ำเปลื่ยนสี ปลาท้องถิ่นที่หายไปด้วย ซึ่งเรื่องปลาที่หายไป กรมประมงเอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดหาปลาเพื่อนำไปปล่อยในลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไปในตัวด้วย 

จากนั้นเวลา 14.30น. กลุ่มเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ตั้งขบวนเดินทาง ภายใต้สโลแกน “เดินทาง เว้าแทนปลา ทวงชีวิตคืนแม่น้ำโขง” โดยใช้ถนนราชดำเนินนอก เพื่อมายังทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะยื่นหนังสือให้กับ เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยังมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ มาหารือกันอีกด้วย ซึ่งนายเสกสกล กล่าวสั้นๆว่า เรื่องปัญหาแม่น้ำโขงนายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลกระทบเพื่อนบ้านทำเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง โดยขอให้รับฟังปัญหาจากชาวบ้านอย่างรอบด้าน เพื่อเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทยอย่างทันทวงที