คณะก้าวหน้า เผยแพร่บทความ "โรงเรียนพร้อมเปิดเรียนเมื่อไหร่ ?" ของ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และหนึ่งในคณะทำงานนโยบายปฏิวัติการศึกษา โดยบทความดังกล่าวระบุถึงมาตรการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนต่างๆ สำหรับการเปิดเทอมหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาและมาตรการ ได้แก่
1.ก่อนเปิดเทอม ครูและเด็กๆ ที่จะต้องมาโรงเรียนควรอยู่บ้านก่อนอย่างน้อย 7-14 วัน รวมถึงทำแบบสอบถามถึงคนในครอบครัวว่า อยู่กับบุคคลกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
2.โรงเรียนพร้อมในแง่สถานที่ ต้องมีการทำความสะอาดสถานที่ เตรียมอ่างล้างมือมีสบู่ให้แก่นักเรียนและบุคลากร จัดพื้นที่แบ่งระยะห่างเพื่อรองรับนักเรียน จัดโต๊ะนักเรียนใหม่
3.โรงเรียนมีมาตรการรักษาระยะห่างและความสะอาดที่ชัดเจน การมาโรงเรียนนักเรียนต้องสวมผ้าปิดปาก ล้างมือทุก 1-2 ชั่วโมง เก็บของเล่นชิ้นเล็กที่เด็กเล็กอาจจับเล่นหรือเอาเข้าปาก เตรียมน้ำยาเช็ดพื้นผิวให้เด็กๆ ช่วยทำความสะอาดพื้นผิวที่ใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู เตรียมการเล่นนอกอาคาร เช่น การปั่นจักรยานบนลู่ การเล่นผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องเล่นทีละคน รวมถึงไม่ควรมีการรับประทานอาหารร่วมกันที่โรงเรียน ควรอุดหนุนเงินให้นักเรียนเตรียมอาหารมาจากบ้าน หรือโรงเรียนปรุงให้แต่นักเรียนเตรียมภาชนะมาจากบ้าน
4. โรงเรียนมีแผนการให้ความรู้กับเด็กๆ และเตรียมใช้แผนนั้นมาล่วงหน้าก่อนที่นักเรียนจะกลับเข้าโรงเรียน ควรมีการให้ความรู้ผู้ปกครอง ฝึกเรื่องการล้างมือที่ถูกต้องจากที่บ้าน บอกนักเรียนเรื่องมาตรการการล้างมือที่โรงเรียน การใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ การงดแตะต้องตัวเพื่อน
5. โรงเรียนมีมาตรการรับมือหากเกิดผู้ติดเชื้อโควิด บุคลากรทุกคนรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการ หากพบผู้ติดเชื้อโควิดในโรงเรียน มีการซักซ้อมทำความเข้าใจช่วงโรงเรียนปิด
6.โรงเรียนมีมาตรการรับมือโรคประจำฤดูกาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝน ซึ่งเมื่อไข้หวัดมา โควิด-19 จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นไปอีก โรงเรียนจึงควรมีมาตรการรับมือโรคประจำฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น มือ เท้าปาก โรคไข้เลือดออก ทำการฉีดพ่นฆ่าลูกน้ำยุงลาย โรคไข้หวัดสายพันธุ์ต่างๆ มาตรการเหล่านี้ควรชัดเจน และสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจ ก่อนเข้าช่วงโรคประจำฤดูกาลระบาดอีกครั้ง
น.ส.กุลธิดา ระบุว่า ทั้ง 6 ข้อนี้ คือ สิ่งที่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการ ที่พอจะทำให้โรงเรียนเปิดได้บ้างในช่วงระบาดโควิด แต่ที่สำคัญ คือ โรงเรียนทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทั้งงบประมาณ บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง คนในชุมชน การช่วยกันรักรักษาความสะอาดและระยะห่างเบื้องต้น ถือเป็นข้อตกลงความรับผิดชอบร่วมกันในห้วงเวลาเช่นนี้ ต้องเตรียมงบประมาณ เตรียมแผนให้บุคลากรทำงานได้ เตรียมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สื่อสารซ้ำๆ ฝึกฝน ซักซ้อมจนเกิดความเข้าใจ และสร้างเป็นนิสัย ต้องหาภาคีช่วยเหลือโรงเรียน
เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้านต้องจับมือโรงเรียน ข่วยกันออกแบบ ประเมิน และตรวจสอบมาตรการเหล่านี้ และอาจไม่ใช่ทุกโรงเรียน และทุกวัน ที่เด็กจะได้กลับไปเรียน แต่ควรไล่จากเด็กกลุ่มที่มีความจำเป็นมากและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ไม่ได้อยู่กับกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งท้าทายมาก เพราะเด็กหลักล้านคนอยู่ในครอบครัวที่มีเฉพาะปู่ ย่า ตา ยาย มิพักต้องนึกถึงกลุ่มเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ ไม่มีปู่ย่าตายายและพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน จะทิ้งลูกไว้กับทีวีห่วง ไม่ทิ้งลูกไว้ก็ไม่มีรายได้
"ดังนั้น รัฐต้องมีประสิทธิภาพ วางแผนให้ครอบคลุม เตรียมแผนเปิดเรียนหลายๆ แบบไว้ รองรับบริบทที่แตกต่างไป แต่ก่อนอื่นรัฐต้องมีธงว่าเด็กจะต้องได้กลับไปใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ผ่านการสนับสนุนของรัฐ เพราะเป็นหน้าที่เสียก่อน อย่าเพิ่งทำแต่แพลตฟอร์มออนไลน์ และ DLTV จนลืมไปว่า เด็กๆ จำนวนมากไม่สะดวกจะใช้อุปกรณ์ใดๆ ในการเรียนด้วยข้อจำกัดหลายประการ" น.ส.กุลธิดา ระบุ
อ่านเพิ่มเติม