จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.30 น. ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ประชาชนบางส่วนรายงานว่าหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ยังมีอาการเวียนหัวคล้ายเมารถหรือเมาเรือ ทั้งที่แผ่นดินหยุดสั่นไหวแล้ว
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อาการดังกล่าวเรียกว่า เป็น “อาการเมาแผ่นดินไหว” หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS)
ซึ่งเกิดจากระบบประสาทพยายามปรับตัวหลังจากรับรู้การสั่นสะเทือนที่รุนแรง ผู้ที่มีความไวต่อการเคลื่อนไหว เช่น คนที่มักเมารถหรือเมาเรือ จะมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้มากขึ้น โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ เดินเซ หรือมีความรู้สึกว่าพื้นยังโยกไปมา แม้ว่าเหตุการณ์จะจบลงแล้ว ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที หรืออาจยาวนานหลายวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ขอแนะนำให้ประชาชนที่มีอาการเมาแผ่นดินไหว ดูแลตัวเองโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการเดินหรือเคลื่อนไหวเร็ว หากรู้สึกเวียนหัวควรนั่งพักในที่ปลอดภัย ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับสมดุล นอกจากนี้ การหายใจลึกๆ หรือการทำสมาธิจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และควรลดการใช้หน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อลดการกระตุ้นอาการ
แต่หากอาการยังคงอยู่เป็นเวลานานเกินหนึ่งสัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรง เช่น เวียนหัวจนล้ม คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการเพิ่มเติม
รัฐบาลมีความห่วงใย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของพี่น้องประชาชนทุกคน และขอให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้อง หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทันที ที่ สายด่วนสุขภาพ 1669 และสายด่วนสุขภาพจิต 1323