วันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา มีการเสวนา '90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง' ในโครงการจัดนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี ก่อตั้งรัฐสภาไทย โดยวิทยากรประกอบด้วย วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
'วันนอร์' ผิดหวังรัฐสภาไทย ชี้รัฐบาลอุ้มนายทุน-ศักดินา
วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา ยอมรับว่า รู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของสภา เพราะควรเป็นที่ซึ่งทำประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่านี้ เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ โดยมองว่ารัฐสภาไม่ควรมีอำนาจมากมายให้กับรัฐบาลกลาง แต่ควรคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนในทุกจังหวัดมีสภาที่บริหารตนเองได้
ปัจจัยสำคัญของความอ่อนแอในระบบรัฐสภาคือ เราถูกเตะตัดขาตลอด ผู้ทำคือขุนศึก นายทุน อำนาจนิยม วันนี้เราก็ยังไม่พ้นบ่วงบาศดังกล่าว และปัจจุบันเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุเช่นนี้ เมื่อเข้ามาก็ต้องดูแลขุนศึก นายทุน และอำนาจนิยม แล้วประชาชนจะเป็นอย่างไร เราต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ปฏิวัติจะเกิดไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ยินยอม เราต้องมีจิตสำนึกว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ควรหวงแหน
อดีตประธานรัฐสภา ระบุว่า ตนอยากฝากถึงรัฐบาล เรื่องการตอบกระทู้ถามสด ซึ่งริเริ่มในสมัยตน เพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ในหลายๆ ประเทศ เมื่อถึงวันประชุมสภาฯทุกกระทรวงต้องยกมาอยู่ที่สภาเพื่อเตรียมตอบคำถาม
"คุณมาจากสภา แต่คุณไม่มาสภา แล้วจะมีประโยชน์อะไร สภาเป็นผู้อนุมัติงบประมาณให้รัฐบาล ความสำคัญอยู่ที่สภาเหนือกว่าฝ่ายบริหาร ถ้ากระทู้สดให้คนอื่นมาตอบแทน เช่นนั้นแล้วไม่ต้องมีก็ได้"
“ทำไมการละเมิดศาลถึงติดคุก แต่การละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ กลายเป็นถูกต้อง ผมว่าศาลท่านต้องตรวจ ตราบใดที่การกบฏ การยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เราจะเจอรัฐประหารแบบนี้อีกหลายรอบ” วันมูหะมัดนอร์ กล่าว
'อภิสิทธิ์' จวก 'ประยุทธ์' หนีสภา ปล่อยฝ่ายบริหารครอบงำนิติบัญญัติ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า คุณค่าของรัฐสภา แยกไม่ออกจากคุณค่าของประชาธิปไตย ตนนั้นเริ่มสนใจในกิจการของสภาตั้งแต่อายุ 11 ปี เพราะจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 สมัยเด็กๆ ตนจะฟังการประชุมสภาจากวิทยุ และจำได้ว่าประทับใจกับการอภิปรายของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนปัจจุบัน ที่ตอบโต้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่องการแถลงนโยบาย
อภิสิทธิ์ ยังระบุคุณค่าของการเป็น ส.ส. 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ได้มีโอกาสพูดแทนชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนฯ ต่างพึงปรารถนา
2) ฝ่ายบริหารต้องมาแสดงความรับผิดชอบไม่มากก็น้อย มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ หรือบางครั้งประจานความไม่เป็นธรรมของการบริหาร
และ 3) รัฐสภาคือแหล่งเรียนรู้ เพราะมี ส.ส.จากหลากหลายพื้นที่มาสะท้อนปัญหาในแง่มุมต่างๆ
ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ ยังระบุว่า การรัฐประหารไม่ควรเป็นคำตอบในเรื่องใดก็ตาม ควรมีวิถีในการแก้ปัญหา แต่ทุกครั้งผู้ทำรัฐประหารย่อมมีการอ้างเหตุผลแบบเดิม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ไม่ยอมให้มีการอ้างเหตุผลเหล่านั้น ต้องย้ำให้ทุกคนรู้ว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ศาลไม่รองรับอำนาจจากการรัฐประหาร
เหตุที่สภาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา อำนาจตกอยู่กับฝ่ายบริหารมากขึ้น กอปรกับกระบวนการนิติบัญญัติไม่คล่องตัวรวดเร็วกระชับเหมือนฝ่ายบริหาร ประชาชนจึงเห็นว่าพึ่งพาได้ยาก ตนคิดว่าเป็นโจทย์ที่ต้องปรับปรุงการตรากฏหมายอย่างไร ให้สามารถอยู่ในใจของประชาชน
ปัญหาที่สองคือเรายังไม่มีวัฒนธรรมเหมือนประเทศประชาธิปไตย ซึ่งสามารถทำให้ฝ่ายบริหารเคารพระบบรัฐสภา จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มาตอบกระทู้ถามสดในสภา และ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งกล่าวตักเตือน ตนอยากจะเรียนท่านรองประธานฯ ว่า ท่านยังพูดเบาเกินไป และอยากเรียนท่านนายกฯ ให้ตระหนัก ว่าในหลายประเทศ ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับสภาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะการตอบกระทู้ถาม
“ถ้าคุณยังไม่สามารถบริหารเวลาในหนึ่งสัปดาห์แค่หนึ่งชั่วโมงถึงสองชั่วโมงที่จะมาตอบกระทู้สภาฯ คุณจะบริหารประเทศอย่างไร” อภิสิทธิ์ กล่าว
ฝ่ายบริหารยังมีลักษณะครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติค่อนข้างมาก เราไปเชื่อกันว่าฝ่ายบริหารต้องเป็นเสียงข้างมากเสมอ ส.ส.รัฐบาลแตกแถวไม่ได้ ต้องตามวิปทุกเรื่อง ทำให้บทบาทของสภาอ่อนแอ แต่ช่วงหลังเราเริ่มเห็นกฎหมายของสมาชิกฯ ผ่านมากขึ้น ไม่ใช่รอผ่านแต่กฏหมายฝ่ายรัฐบาลเสมอมา แล้วเรียกตัวเองว่าฝ่ายนิติบัญญัติ
ในอนาคตต้องตั้งคำถามเรื่องวุฒิสภาที่เคยทดลองมาหลายวิธีแล้ว แต่ยังหาคำตอบไม่ได้เราต้องการให้วุฒิสภาทำอะไรที่สภาผู้แทนฯ ทำไม่ได้ จะได้ออกแบบถูก ไม่ใช่ว่าไม่ยึดโยงกับประชาชน แล้วยังมีอำนาจเกินไป นอกจากนี้ นักการเมืองหลายคนที่ผูกพันกับสภา แต่พอได้เป็นรัฐมนตรีแล้วหายหัวเลย ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะเป็นเพียงตรายางผ่านกฏหมาย
'โภคิน' ปลุกคนไทยต้านอำนาจรัฐประหาร สร้างคุณค่าระบบสภา
โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภากล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอยู่พอสมควร เพราะในอดีตสมัยที่ตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฏร และประธานรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้รับความเห็นชอบอย่างท่วมท้น คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะตกผลึก
โภคิน กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสิ่งที่คณะราษฎรนำมาสู่สังคมไทย 3 ด้านคือ 1) เปลี่ยนให้อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แม้แต่พวกยึดอำนาจก็ไม่กล้าอ้าง 2) สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม และ 3) ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ปัญหาคืออีก 10 ปี เราจะยังต้องมานั่งเสียดายเรื่องเดิมที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่หรือไม่
“สิ่งที่ผมค่อนข้างที่จะอึดอัดและเสียใจก็คือ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารพวกเราซึ่งมาจากประชาชน มาจากประชาธิปไตยมีจำนวนน้อยมากที่กล้าลุกขี้นยืนเพื่อสู้กับการรัฐประหาร” โภคินกล่าว
โภคิน กล่าวอีกว่า ตนอยากเห็นทุกคนพร้อมใจกันสู้ ต่อต้านผู้ทำลายประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาจึงจะงดงามและมีความหมาย ส่วนข้อดีของการมีรัฐสภาโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฏร เป็นความหวังว่าถ้าไม่มีอะไรสะดุดก็จะทำให้ทุกสิ่งราบรื่น และนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาตอบคำถาม จากที่ตนเข้ามาเป็นประธานสภา ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ พอมีกฎหมายที่ดี เดินทางมาดีๆ พอเกิดการยุบสภา หรือหมดวาระก็ตกไป เพราะฉะนั้นหากกฎหมายไหนที่ตกไปก็ให้เสนอต่อทันที ถ้าหากรัฐบาลเห็นชอบก็จะทำให้กฎหมายดีๆ สามารถไปต่อได้
นอกจากนี้ โภคิน กล่าวถึง กรณีที่ทำอย่างไรให้ประชาชนยึดโยงกับเรื่องของกฎหมายได้มากขึ้นว่า ความจริงแล้วประชาชนต่างให้ความสนใจ เพราะตอนนี้ประชาชนต่างเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า เขาอยากจะฝากปัญหาเข้ามา ตนคิดว่าถ้าหากไม่ปลดปล่อยประชาชนออกจากแนวคิดนี้ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอำนาจนิยมได้