เว็บไซต์ Bloomberg รายงานอ้างอิงคำแถลงของธนาคารโลก (World Bank) ที่สั่งระงับการเผยแพร่ผลจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business Report 2021) ประจำปี 2564 ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ในเดือน ต.ค.ที่จะถึง แต่กลับพบความผิดปกติในการรวบรวมข้อมูลและประเมินผลเสียก่อน
ธนาคารโลกระบุว่า จะตรวจสอบผลจัดอันดับเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด หลังจากนั้นจึงจะเผยแพร่ผลจัดอันดับที่ถูกต้องต่อสาธารณะ
บลูมเบิร์กรายงานว่าเมื่อปี 2561 'พอล โรเมอร์' ประธานฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกขณะนั้น ถูกกดดันพ้นจากตำแหน่ง หลังถูกรัฐบาลชิลีกล่าวหาว่าธนาคารโลกใช้กลไกการเก็บข้อมูลและประเมินผลจัดอันดับ Doing Business เพื่อกล่าวโทษรัฐบาลที่สนับสนุนนโยบายสังคมนิยมในการดำเนินธุรกิจ
ครั้งนั้นธนาคารโลกให้เหตุผลว่า มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเก็บข้อมูลและกลไกประเมินผล ทำให้ชิลีได้คะแนนลดลง และอันดับของชิลีก็ตกต่ำลงกว่าปีก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ด้านนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเทียบกับผลจัดอันดับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า 'นเรนทรา โมดิ' นายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยอ้างผลจัดอันดับ Doing Business อินเดียที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเดิมเคยอยู่อันดับ 142 ในปี 2557 ขึ้นมาเป็นอันดับ 63 ในปี 2562
โมดินำเรื่องนี้ไปสร้างความนิยมให้กับรัฐบาลของตนเอง ทั้งที่อินเดียไม่ได้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีปรับแก้กลไกการขอประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินผลของธนาคารโลก
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ Wall Street Journal (WSJ) ระบุชื่อ 4 ประเทศต้องสงสัยว่าถูกแทรกแซงกลไกการรวบรวมข้อมูลและประเมินผลจัดอันดับ Doing Business ได้แก่ จีน อาเซอร์ไบจัน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
WSJ รายงานว่าธนาคารโลกจะตั้งคณะกรรมการอิสระที่เป็นคนนอกองค์กรขึ้นมาตรวจสอบความถูกต้องของผลจัดอันดับที่ได้ รวมถึงกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลและให้คะแนนตามเกณฑ์ต่างๆ และจะดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเที่ยงตรงที่สุด โดยจะทบทวนตรวจสอบผลจัดอันดับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะธนาคารโลกระบุว่า ผลจัดอันดับที่ตรวจพบข้อผิดพลาดมาก่อนคือปี 2560-2562
ส่วน 'จัสติน แซนด์เฟอร์' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Center for Global Development สถาบันที่ศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาโลก ระบุว่า ผลจัดอันดับ Doing Business เอื้อต่อการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นการจัดอันดับที่ "สมควรจะถูกยกเลิก"
แซนด์เฟอร์ระบุว่าที่ผ่านมา ประเทศที่มีผลจัดอันดับดีขึ้นแบบก้าวกระโดด มักเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องหรือได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก หรือมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการประเมินผลบ่อยๆ จนทำให้บางประเทศมีผลคะแนนต่ำกว่าความเป็นจริง และผลจัดอันดับมีผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจของประเทศต่างๆ
ส่วนการปรับเปลี่ยนกระบวนการบางอย่างในบางประเทศ เช่น การลดทอนขั้นตอนระบบราชการหรือขั้นตอนการจดทะเบียนเริ่มทำธุรกิจ การเพิ่มความรวดเร็วในการขอจดทะเบียนใช้ไฟฟ้า ช่วยให้คะแนนผลจัดอันดับ Doing Business ของหลายๆ ประเทศสูงขึ้นได้โดยที่ยังไม่ได้ปฏิรูปกฎหมายหรือปรับเปลี่ยนนโยบายเชิงโครงสร้างใดๆ จึงไม่ได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาระบบที่แท้จริง
ขณะที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า 'ประเทศไทย' อยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของธนาคารโลก จากผลจัดอันดับ Doing Business ประจำปี 2563
ภาพ: Braden Jarvis on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: