ไม่พบผลการค้นหา
กทม. เผยหลังรณรงค์จัดการขยะจากต้นทาง 5 เดือน ลดขยะได้กว่า 6 หมื่นตัน พร้อมเผยช่องทางใหม่จ่ายค่าจัดเก็บขยะผ่านแอพ BKK Waste Pay

เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการจัดการขยะ มุ่งเน้นรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างต่อเนื่อง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งจากสถิติปริมาณขยะที่ศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง ของกรุงเทพมหานครพบว่าปริมาณขยะในกรุงเทพฯ ลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณขยะเริ่มลดลงติดต่อกัน 5 เดือน คือระหว่างกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน 2566 โดยปริมาณขยะลดลงทั้งหมด 67,248 ตัน หรือเฉลี่ย 444 ตัน/วัน ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้ 127.8 ล้านบาท

จากปริมาณขยะเมื่อเทียบ 5 เดือน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน ในปี 2565 และปี 2566 พบว่า เดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณขยะลดลง 200 ตัน/วัน คิดเป็น 2.25% ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะไปได้ 10.6 ล้านบาทในเดือนนั้น เดือนมีนาคม ปริมาณขยะลดลง 272 ตัน/วัน คิดเป็น 3% ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บไปได้ 16 ล้านบาท เดือนเมษายน ปริมาณขยะลดลง 318 ตัน/วัน คิดเป็น 3.6% ประหยัดค่าใช้จ่ายฯ ไปได้ประมาณ 18.13 ล้านบาท เดือนพฤษภาคม ปริมาณขยะลดลง 713 ตัน/วัน คิดเป็น 7.5% ประหยัดค่าใช้จ่ายฯ ไปได้ประมาณ 42 ล้านบาท และเดือนมิถุนายน ปริมาณขยะลดลง 719 ตัน/วัน คิดเป็น 7.4%ประหยัดค่าใช้จ่ายฯ ไปได้ประมาณ 41 ล้านบาท ซึ่งรวมทั้งหมด 5 เดือน กรุงเทพมหานครสามารถลดปริมาณขยะได้ทั้งหมด 67,248 ตัน หรือเฉลี่ย 444 ตัน/วัน และประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 127.8 ล้านบาท ซึ่งปริมาณขยะที่ลดลงนี้แสดงให้เห็นว่านโยบายแยกขยะต้นทางที่ กทม. ดำเนินการมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ BKK Zero Waste ไม่เทรวมหรือโครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการลดและแยกขยะใช้ประโยชน์ที่ต้นทางทำให้ขยะที่ส่งไปกำจัดลดลง 

ทั้งนี้ จากนโยบายโครงการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง (Zero waste) ที่กรุงเทพมหานครมุ่งเน้นส่งเสริมชุมชน องค์กร สถานประกอบการ ลดและคัดแยกขยะมุ่งผลสำเร็จตามหลักการของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste) และสำนักงานเขตได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดมาใช้ประโยชน์ โดยแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิด ซึ่งในปี 2565 มีองค์กร/ชุมชน/สถานประกอบการเข้าร่วม โครงการ 6 ประเภท ได้แก่ ชุมชน สถานศึกษา อาคาร ตลาด วัดและศาสนสถาน และงานกิจกรรมหรือเทศกาลในพื้นที่เขต จำนวน 998 แห่ง และในปี 2566 มีการขยายผลกำหนดเป้าหมายเชิญชวนองค์กร/ชุมชน/สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ เป็น 16 ประเภทแหล่งกำเนิด ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัดและศาสนสถาน ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานบริการน้ำมัน โรงแรม ธนาคาร สถานพยาบาล สวนสาธารณะ หน่วยงานสังกัดกทม. ซุปเปอร์มาเก็ต/มินิมาร์ท ร้านอาหาร สำนักงานโรงงาน แฟลตหรือคอนโดมิเนียม งานกิจกรรมหรือเทศกาล โดยเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,558 แห่ง จากเป้าหมายให้เข้าร่วมโครงการ 8,390 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย “ส่งขยะคืนสู่ระบบ” มุ่งเน้นการแยกขยะที่มีประโยชน์กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยมีการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ขยะเศษอาหารและกิ่งไม้ใบไม้ ดำเนินการตามโครงการ “ไม่เทรวม” ซึ่งปัจจุบันสามารถคัดแยกขยะเศษอาหาร ได้เฉลี่ย 55 ตัน/วัน จาก 1,112 แหล่งกำเนิด รวมถึงขยะรีไซเคิล ที่ดำเนินการผ่านโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” ตามภารกิจ “แยกเพื่อให้...พี่ไม้กวาด” ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by PTTGC และ Z-Safe เพื่อช่วยเหลือพนักงานกวาดถนน ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เอกวรัญญู เปิดเผยต่อว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการมูลฝอย (BKK Waste Pay) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้รับบริการ 

จากเดิมที่ต้องชำระโดยตรงกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือต้องเดินทาง เข้าไปชำระที่สำนักงานเขต โดยเพิ่มช่องทางการชำระเงินค่าธรรมเนียมแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ Mobile Banking ตู้ ATM หรือเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือชำระโดยตรงกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม 

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถดาวน์โหลดใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินได้จากแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay หรือขอรับใบเสร็จจากเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมในรอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งต่อไป

ขณะเดียวกัน สสล.ได้จัดทำคู่มือและแนวทางดำเนินงานด้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พร้อมทั้งแจ้งให้สำนักงานเขตถือปฏิบัติและจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมของสำนักงานเขต ตลอดจนกำชับให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด และแสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน

 สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอย เมื่อเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่ หากพบประชาชนประสงค์ชำระค่าธรรมเนียมทันทีที่หน้างาน เจ้าหน้าที่จะออก QR Code จากอุปกรณ์จัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ประชาชนสแกนชำระค่าธรรมเนียมผ่าน Mobile Banking หรือชำระด้วยเงินสด โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลการชำระค่าธรรมเนียมในระบบและออกใบเสร็จรับเงินจากอุปกรณ์จัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ประชาชนทันที หากประชาชนยังไม่ประสงค์ชำระค่าธรรมเนียม หรือไม่พบประชาชนในขณะที่เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่จะออกใบแจ้งหนี้ให้ไว้ เพื่อให้ประชาชนนำไปชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้