ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กเสนอการบริหารจัดการ พ.ร.ก. 1.97 ล้านล้านบาท ต่อรัฐบาลว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้ พ.ร.ก. 1.97 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมไว้ใช้จ่ายเพื่อแก้ไขวิกฤตผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจำเป็นต้องมีแนวทางการกำกับดูแลและกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ฯ องค์กรเครือข่ายและพันธมิตร ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนี้
1. สร้างความโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน บนระบบหรือแพลทฟอร์มที่เปิดให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าดูและตรวจสอบได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต เช่น กระทรวงหรือหน่วยงานใด ได้รับงบสนับสนุนในโครงการอะไร ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือมีรายจ่ายอะไร กรณีเงินกู้พิเศษได้อนุมัติให้ผ่านธนาคารใด แต่ละธนาคารให้ใครกู้ในจำนวนและเงื่อนไขใด กรณีแจกจ่ายเงินแก่ประชาชนได้แจกให้ใครบ้าง มีระบบการยืนยันรับเงินโยงกับทะเบียนราษฎร กรณีเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะซื้อตราสาร ต้องให้เปิดเผยว่าซื้อตราสารของใครเท่าไร ฯลฯ เป็นต้น แนวทางนี้อาจมอบให้ สนง.รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เป็นผู้อำนวยความสะดวก
2. ขอให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นนโยบาย ให้ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ต้องเปิดข้อมูลโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ รวมถึงเปิดให้ทุกภาคส่วนและภาคประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครในดูแลการใช้จ่ายในบางโครงการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางนี้อาจต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม มิฉะนั้นหน่วยงานต่างๆ จะติดขัดกฎระเบียบมากมาย
3. ขอให้รัฐบาลกำหนดกรอบการใช้เงินนี้ ว่าจะใช้ด้านใด อย่างไร แค่ไหน โครงการประเภทไหนที่จะไม่นำไปใช้แน่นอน เช่น สร้างสนามบิน ส่งคนไปดูงานต่างประเทศ ทำถนน โครงการที่เคยอยู่ในงบประมาณประจำปีแต่เพิ่งถูกตัดออกมาเพื่อสมทบกับงบส่วนกลาง เป็นต้น แนวทางนี้เพื่อสร้างความชัดเจน สบายใจ ไม่เห็นแก่พวกเส้นใหญ่ และการตรวจสอบของประชาชนจะง่ายขึ้น
4. ขอให้กลไกตรวจสอบของรัฐ รัฐสภา ศาล อัยการ และองค์กรอิสระ ได้ติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะ อย่างตรงไปตรงมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และถือเป็นสัญญาประชาคมว่าพฤติกรรมคอร์รัปชันทุกกรณีไม่ว่าโกงมากหรือน้อย สร้างความเสียหายรุนแรงเพียงใดก็จะต้องถูกลงโทษขั้นสูงสุด แนวทางนี้จะเป็นจริงได้ บุคลากรทุกระดับต้องสามารถปฏิบัติงานด้วยศักดิ์ศรีและจิตสำนึกในหน้าที่โดยอิสระและปลอดภัย
5. ขอให้รัฐบาลจัดให้มีการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ” (แต่งตั้งไว้แล้ว) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง – เปิดเผยระหว่าง ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. ปปง.และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ เป็นการด่วน
เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยของเราเอาชนะวิกฤติโลกครั้งนี้ จำเป็นที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วย “ธรรมาภิบาลที่เข้มงวด” พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชน ข้าราชการทุกท่านและประชาชนได้ร่วมกันติดตาม เก็บข้อมูล และตั้งคำถามต่อการดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง”