วันที่ 24 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พลังประชารัฐ เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองอีก 7 พรรค ที่ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอาจเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยแต่ละข้อที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลง มีประเด็นที่น่าสงสัยตรงคำว่า บันทึกข้อตกลงร่วม ไม่ตรงกับคำว่าบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลและคำว่าผู้แทนราษฎรที่ถูก ควรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นแทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดหรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
สำหรับพรรคการเมืองที่มีคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองตามข้อบังคับ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ และต้องรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องของมติต่างๆ และที่สำคัญคือห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำหรือชี้นำไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
และจากการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเฉพาะข้อบังคับพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2563 ไม่พบการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพรรคได้มีข้อกำหนดไว้ชัดเจน จึงเห็นได้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล อาจขัดต่อข้อบังคับของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่พบรายละเอียดการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามดังกล่าว และยังอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ว่าแต่ละพรรคการเมืองต่างฝ่ายต่างยินยอมให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้ขาดความอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงมีเหตุอันควรให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ พิธา ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ในขณะที่รับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. และยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยอ้างข้อมูลว่าตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี ปี 2549 มีชื่อ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นจำนวน 12,000 หุ้น จากนั้นปี 2550 ถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น และนับแต่ปี 2551 ถึง 2566 มีชื่อพิธาถือหุ้นจำนวนดังกล่าวมาโดยตลอด และมีการแจ้งที่อยู่ในการถือหุ้นแตกต่างกัน 3 ครั้ง ซึ่งการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ทำให้น่าเชื่อได้ว่า พิธารู้หรือควรรู้ ถึงการถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้นมาโดยตลอด
แต่ไม่เคยมีการระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการมรดกตามที่กล่าวอ้าง โดยบริษัทไอทีวีมีรายได้รวมตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2565 และจากข้อเท็จจริงในข้างต้นจะเห็นได้ว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้นมานับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งบริษัทไอทีวีมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสื่อมวลชนตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมีรายได้ตามงบกำไรขาดทุนมาทุกปียกเว้นปี 2555
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 59 บัญญัติว่า ในกรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทตายหรือล้มละลายอันเป็นเหตุให้บุคคลใดมีสิทธิ์ในหุ้นนั้น ถ้าบุคคลนั้นได้นำหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายมาแสดงครบถ้วนแล้ว ให้บริษัทลงทะเบียนและออกใบหุ้นใหม่นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้อง และกรณีที่พิธายังคงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีอยู่นั้น จึงควรมาจากที่พิธา ในฐานะผู้มีสิทธิ์ในหุ้นบริษัทไอทีวี ได้นำหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายไปแสดงโดยครบถ้วน จึงทำให้ทะเบียนผู้ถือหุ้นปรากฏชื่อพิธามาตลอดนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ พิธายังคงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในขณะที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมกับยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอาจเข้าข่ายที่ต้องส่งให้ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่า พิธามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ จึงขอให้ กกต. ตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายพิธาจะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ กกต.ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามในการเป็น ส.ส หรือรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบกับมาตรา 160 หรือไม่
ทั้งนี้ เรืองไกร ได้แนบเอกสารหลักฐาน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ และบัญชีแสดงรายได้รวมของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2565 ประกอบการพิจารณาของ กกต.
นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ย่อมเป็นแทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดหรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื้อสัตย์สุจริต เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์