ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร ประชุมติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งอัปเดตข้อมูล พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์การแก้ไขฝุ่น PM 2.5 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

วันนี้ (15 มกราคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมาก หากดูในแอปพลิเคชันเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 จะแสดงผลระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นสีส้ม (สถานการณ์อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง (สถานการณ์อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ) โดยต้องการฟังแนวทางการดำเนินการของแต่ละหน่วยงานว่าได้มีการดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้างในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายหลังจากที่ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญมากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งเด็กเยาวชน คนสูงอายุ และประชาชนทั่วไป ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครดัชนีสูงถึง 153 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และคิดว่าในบางวันบางช่วงมีตัวเลขที่สูงกว่านี้ ทั้งนี้ จากผลการวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมา ยังต้องทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะผลที่ออกมายังไม่เป็นน่าพอใจเท่าที่ควร ขอให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและสิ่งที่จะทำต่อไปว่ามีอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังแนวทางการดำเนินการของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมาและสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการออกประกาศควบคุมสินค้าที่มาจากการเผา กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการส่งเสริมการตัดอ้อยสด นำใบอ้อยสดไปใช้ประโยชน์ โดยนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า กรุงเทพมหานครดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่าน 9 มาตรการ เช่น WFH เพื่อจะทำให้ปริมาณการจราจรในถนนจะลดลง ทำให้การจราจรติดขัดน้อยลง การปล่อยฝุ่นสะสมจะน้อยลงด้วย

“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอัปเดตข้อมูลผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเร่งช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาของแต่ละกระทรวง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเตรียมความพร้อมรับมือฝุ่น PM 2.5”

นายกรัฐมนตรีย้ำ