ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ สั่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พิจารณาแนวทางเพิ่มสิทธิประโยชน์ ดึงลงทุน 'อีอีซี' หลังพบเวียดนามให้ออปชันมากกว่า ส่วนเรื่องผ่อนปรนนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศได้ยังต้องรอ ศบค.

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ) ครั้งที่ 3/2563 วันนี้(22มิ.ย.63) ว่าที่ประชุมซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้สั่งการให้ที่ประชุมไปพิจารณาแนวทางการปรับเพิ่มสิทธิประโยน์เพื่อจูงใจให้กับนักลงทุนสำหรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากที่ผ่านในส่วนของนโยบายพูดถึงสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนรวมทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย และอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมายในแบบเดียวกันทั้งหมด

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนยังไม่มา ดังนั้นจึงอาจจะต้องปรับสิทธิประโยชน์ว่าจะเป็นอย่างไรที่สามารถเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะต้องดูสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านพิจารณาร่วมด้วย เพราะหลายประเทศให้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น การให้ที่ดินฟรี หรือเก็บภาษีหลังมีกำไร

“กรณีที่เวียดนามเขาให้ที่ฟรี เขาให้ที่เลย แต่ของเราไม่มีที่ให้ อันที่สองที่คุยคือสิทธิประโยชน์ของเวียดนาม ให้เรื่องภาษีไม่ต้องเก็บภาษีจนกว่าจะมีกำไร ของเราให้ไปเป็นระยะ 5-8 ปี พอหมดระยะเวลาที่ให้แล้วต้องจ่ายภาษีไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน มันมีความเหลื่อมล้ำตรงนี้อยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะให้นะครับ ต้องไปดูอีกทีว่าอุตสาหกรรมที่เราอยากจะได้คืออะไร แล้วเท่าไหร่ถึงเหมาะสม” นายคณิศ กล่าว

นายคณิศ ระบุว่า เบื้องต้นต้องไปดูก่อนว่าไทยอยากได้การลงทุนแบบใด เช่น อุตสาหกรรมเก่าที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อยากให้ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิทัล หุ่นยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่ควรจะให้เพิ่ม แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ประเมินว่า หลังจบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศทั้งในเอเชีย และทั่วโลกจะมีการแข่งขันดึงการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นไทยอาจจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

EECแถลง
  • คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานภาพรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ม.ค. – พ.ค. 2563 มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 74,151 ล้านบาท โดยมูลค่าคำขอในอีอีซีลดลงประมาณร้อยละ 10 และประเมินว่าในไตรมาสที่ 2/2563 มูลค่าการลงทุนจะลดลงมากที่สุดจากถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับ สำหรับการลงโดยตรงจากต่างประเทศ 5 อันดับแรกยังคงเป็นจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำขอผ่อนปรนเดินทางเข้าประเทศของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ได้ยืนหนังสือถึงภาครัฐขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทางธรุกิจ ขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าเริ่มผ่อนปรนเงื่อนไข หรือรายละเอียดอย่างไร ซึ่งต้องรอศูนย์บริหารสถานการณ์พร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ได้มีการลงนามในสัญญาไปแล้ว ยืนยันว่า ยังสามารถเดินหน้าได้ตามแผน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่และการเวนคืนที่ ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายเดือนนี้