ไม่พบผลการค้นหา
เส้นทางรถเถื่อน-การสวมป้ายทะเบียนปลอม ปัญหาหนักใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้บริสุทธิ์ เมื่อรถถูกสวมรอยนำไปใช้ก่อเหตุร้ายและกระทำผิดกฎหมาย

‘การสวมทะเบียนรถยนต์’ สร้างปัญหาให้กับผู้บริสุทธิ์ครั้งแล้วครั้งเล่า 

หลายคนเจอใบสั่งส่งตรงถึงบ้านมากกว่า 1 ใบ และมีบ้างที่มากถึง 6 ใบ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด กลายเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

คำถามก็คือ อะไรเป็นต้นเหตุของปัญหาและเส้นทางของรถยนต์ผิดกฎหมายที่มุ่งหน้าไปสู่การสวมใส่ป้ายทะเบียนปลอมเป็นอย่างไร ? 


4 ประเภทรถเถื่อน 

พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.3 บก.ป. จากศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ศปจร.) ให้ข้อมูลว่า รถผิดกฎหมายมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้

  • รถหนีไฟแนนซ์

ปัญหารถเถื่อนผิดกฎหมายประมาณ 80 เปอร์เซนต์ เกิดจากรถหนีไฟแนนซ์ หลายคนผ่อนชำระไม่ไหว ใช้วิธีหลบหนีไฟเเนนซ์ด้วยการนำไปขายหรือจำนำในตลาดมืด อินเทอร์เน็ต เต้นท์รถ บางคนเอาป้ายทะเบียนปลอมมาสวมทับเพื่อหลอกว่าเป็นรถคันอื่น 

  • รถก่อคดี 

ไม่ว่าจะมาจากการปล้น ฉ้อโกง ยักยอก เมื่อได้รถมาก็จะนำมาสวมทะเบียนเพื่อใช้หรือขายต่อในตลาดมืด อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะนำมาชำเเหละและแยกขายเป็นอะไหล่มากกว่าเพื่อตัดตอนโดยเร็วที่สุด 

  • รถนำเข้าผิดกฎหมาย 

รถจดประกอบ นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่มาประกอบในประเทศ โดยไม่ผ่านกรมศุลกากร พวกนี้ไม่มีทะเบียนก็จะเอาทะเบียนปลอมมาสวมไว้ เพื่อใช้หรือขายต่อ

  • รถสวมซาก 

รถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จะถูกนำไปขายต่อในตลาดมืด พร้อมกับเล่มทะเบียนรถยนต์ โดยอาศัยช่องว่างจากการที่เจ้าของรถหลายคนไม่ไปแจ้งยกเลิกการใช้งานและเล่มทะเบียน โดยซากรถจะถูกนำไปดัดแปลงเข้ากับรถหนีไฟแนนซ์หรือรถโจรกรรม กลายเป็นรถยนต์ที่พร้อมกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งโดยมีเล่มทะเบียนประกอบครบถ้วน 


รถยนต์

ขายทิ้งดีกว่าถูกยึด ? 

รถที่หลบหนีออกจากวงจรไฟแนนซ์ มีเส้นทางไปต่อหลากหลายรูปแบบ โดยจำนวนมากมักถูกขายหรือจำนำโดยไม่มีการไถ่ถอนคืนเพื่อแลกกับเงิน

“เปลี่ยนเป็นเงินดีกว่าถูกยึด ขายให้พวกขบวนการรับซื้อรถมือสอง พวกนี้ก็เอาไปสวมซากหรือสวมทะเบียนมาขายต่ออีกทีจนกลายเป็นปัญหาให้กับสังคม” พ.ต.อ.บุญลือ กล่าว

“บางคนคิดแค่นั้น ขายไปให้พ้นเพื่อหลีกหนีความรับผิดชอบ ไม่กลัวว่าอนาคตจะเจอฟ้องร้องอะไรบ้าง”  

การกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบันการทำสัญญาเช่าซื้อรถ ผู้ให้เช่าซื้อมีการทำสัญญาเช่าซื้อที่ห้ามไม่ให้ผู้เช่าซื้อนำรถที่เช่าไปประกอบการอันนอกเหนือวัตถุประสงค์จากการใช้รถโดยปกติซึ่งมีข้อกำหนดห้ามนำรถไปขายต่อ จำนำต่อ เป็นต้น

ขณะที่ผู้ครอบครองมือสุดท้ายที่อาจเป็นผู้บริสุทธิ์หลังไปซื้อต่อมาจากเต้นท์ มีสิทธิเจอข้อหารับของโจร เนื่องจากรถคันนี้มีคดีความตั้งแต่แรกอยู่แล้ว  

“บางขบวนการเสนอขายรถหลุดจำนำ พร้อมรับทำแผ่นป้ายทะเบียนและเอกสารปลอม ราคา 5,000-6,000 บาท ถึงเวลาต่อทะเบียนไม่ต้องไปขนส่งฯ เดี๋ยวจัดส่งเอกสารไปให้”

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ในแต่ละปีมีรถยนต์มากกว่า 8 หมื่นคัน ที่หายสาบสูญออกจากระบบโดยไม่รู้ปลายทางอย่างชัดเจน 


ปลุกชีพด้วยการสวมซาก 

กรณีของซากรถ พ.ต.ท.วิวัฒน์ จิตโสภากุล รอง ผกก.3 บก.ป. บอกว่า เกิดขึ้นได้สองกรณี คือ หนึ่ง รถที่มีประกันภัยหลังเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยประเมินความเสียหายเกิน 80 เปอร์เซนต์ สอง รถเกิดอุบัติเหตุทั่วไป ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ 

ปัญหาคือหลังจากเจ้าของรถสละทรัพย์ไปให้กับบริษัทประกันภัยแล้ว มีจำนวนมากไม่ไปแจ้งยกเลิกการใช้งานและยกเลิกเล่มทะเบียนรถยนต์ต่อกรมการขนส่งทางบก กลายเป็นว่าซากรถยนต์ได้ถูกขายไปพร้อมกับเล่มทะเบียน เสมือนว่ารถนั้นยังมีชีวิตอยู่ทั้งที่ข้อเท็จจริงได้ตายไปแล้ว 

“ซากรถที่มีเล่มจะมีราคาสูงกว่าพวกไม่มีเล่มถึงเท่าตัว และไม่มีกฎหมายให้คุณให้โทษกับเจ้าของที่ไม่แจ้งปิดเล่ม กลายเป็นช่องทางให้ขบวนการสวมซาก นำทั้งซากที่มีเลขตัวถังรถ (คลัชซี) และเล่มทะเบียนไปสวมกับรถที่หลบหนีไฟแนนซ์หรือถูกโจรกรรมมา” พ.ต.ท.วิวัฒน์กล่าว 

เมื่อรถที่อยากตายคือพวกหนีไฟแนนซ์ไปเจอกับรถที่ตายแล้วแต่ยังไม่อยากตาย คือพวกซากรถมีเล่มทะเบียน จึงเท่ากับว่า ‘ลงล็อก’ ชุบชีวิตโดยฉาบด้วยเอกสารทางกฎหมาย

“รถที่ไฟแนนซ์กำลังไล่ล่าก็หายไปจากระบบ รถที่เป็นซากก็ได้กลับมีชีวิตแล้วถูกนำไปขายต่อให้กับเต้นท์ ผ่านการโอนทะเบียนและเปลี่ยนมือเจ้าของ” เจ้าหน้าที่เล่า 


รถยนต์


จ้างดาวน์แลกเงิน 

คดีอีกประเภทที่น่ากลัวคือการว่าจ้างผู้คนไปดาวน์รถแลกเงิน

พ.ต.ท.วิวัฒน์ เผยว่า พฤติการณ์ของขบวนการนี้คือการไปว่าจ้างชาวบ้านให้ไปดาวน์รถเพื่อแลกกับเงิน ก่อนนำรถที่ได้ส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามออเดอร์ที่นายทุนต้องการ

“5,000-30,000 บาท บางคนต้องการเงินจริงๆ ก็ยอม มีทั้งรู้และไม่รู้ว่ากำลังถูกหลอกลวง” เขาบอก 

“บางคนทำไร่ทำนาอยู่ดีๆ ถูกว่าจ้างให้ไปดาวน์ สุดท้ายกลายเป็นเหยื่อ มันเป็นขบวนการที่อาจมีไฟแนนซ์และโชว์รูมร่วมด้วย”

ยังมีนายทุนบางประเภทที่เล่นกับอารมณ์และความเดือดร้อนของประชาชน 

“คนเดือดร้อนต้องการเงิน 3 แสน แต่สภาพรถของตัวเองขายได้แค่ 1 แสน ก็เจอพวกนายทุนยื่นข้อเสนอ ให้ไปดาวน์รถมาจำนำ จะให้เงินอีก 2 แสน สุดท้ายไปดาวน์มาจำนำแลกเงินจริงๆ หลังจากนั้นรถก็ถูกส่งออกไปต่างประเทศ คนซื้อติดหนี้เป็นล้าน จะไปแจ้งจับนายทุนก็ยุ่งยากเพราะทุกอย่างเป็นชื่อของคุณ และเป็นคนตัดสินใจเอาไปจำนำเอง ซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว” เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถระบุ 


unsplash-เมาแล้วขับ-เมาขับ-เหล้า-อุบัติเหตุ-รถชน-ถนน.jpg

อย่าเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพ

จันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้คำแนะนำว่า หากทราบว่ามีรถคันอื่นสวมทะเบียนรถของตนเอง ไม่ว่าจะทราบโดยพบเห็นหรือมีใบสั่งส่งมาที่บ้าน ควรจะรีบไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามหาหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ เพราะหากมีการใช้รถทะเบียนนี้ไปก่อเหตุกระทำความผิด ก็จะมีหลักฐานแสดงตัวกับตำรวจ

อีกกรณีคือการซื้อรถมือสองควรจะต้องตรวจสอบประวัติรถก่อน เบื้องต้นอาจตรวจสอบประวัติจากเอกสาร ข้อมูลจากการต่อทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบก รวมถึงเช็คสภาพรถยนต์ให้รอบคอบ 

ขณะที่การขายซากรถพร้อมกับเล่มทะเบียน ซึ่งกลายเป็นโอกาสให้เกิดการนำไปสวมเล่มทะเบียนให้กับรถคันอื่นนั้น จันทิรา แนะนำว่า หากเกิดอุบัติเหตุจนรถยนต์ไม่สามารถใช้งานต่อได้แล้ว ควรดำเนินการทางทะเบียน โดยแจ้งยกเลิกการใช้รถ ไม่ใช่เอาทะเบียนไปขายต่อ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกเอาไปสวมใส่รถที่ผิดกฎหมาย

“ยกเลิกเพื่อตัดภาระผูกพันด้านภาษี และปิดโอกาสไม่ให้มิจฉาชีพนำเอาไปกระทำความผิด” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าว

อีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสวมรอยทะเบียนคือ การยอมจ่ายเงินเพื่อจบปัญหา โดยเสียค่าธรรมเนียมขอเปลี่ยนเลขทะเบียนรถจำนวน 775 บาท หากรถยังอยู่ในไฟแนนซ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทไฟแนนซ์ในการขอเปลี่ยนเลขทะเบียนอีก 500 บาท และ เสียค่ามัดจำในการนำใบคู่มือจดทะเบียนออกมาด้วย อย่างไรก็ตามวิธีนี้หลายคนมองว่าเป็นการหลบหนีคนร้ายทั้งที่ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์


ทะเบียนรถ.jpg


สวมป้ายทะเบียนปลอม คุก 6 เดือนถึง 5 ปี

คนที่มีพฤติกรรมยักยอกทรัพย์หรือคิดสั้นเลือกกระทำผิดกฎหมาย ระวังติดคุกตัวโต โดยการสวมทะเบียนรถปลอมมีความผิดดังนี้ 

1.ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม 

มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 - 10,000 บาท ส่วนฐานความผิดอื่น เช่น เช่ารถจากเต็นท์รถแล้วนำมาสวมทะเบียนเพื่อขายต่อ จะมีความผิดฐานฉ้อโกง เป็นต้น

2.ความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 หากเป็นป้ายที่ทางราชการออกให้จริง มีความผิด มาตรา 67 ฐานเอาป้ายทะเบียนคันอื่นมาติด และอาจจะมีฐานความผิดอื่นตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

สำหรับผู้เช่าซื้อหรือเจ้าของรถ หากขายให้แก่เต็นท์ บุคคลอื่น นำรถไปจำนำ หรือนำรถออกให้เช่าต่อ และติดตามรถคืนให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไม่ได้ กรณีแบบนี้อาจจะตกเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ 

ดังนั้นหากจำเป็นจะต้องขายให้แก่บุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลอื่นผ่อนส่งต่อไป ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ เก็บเอกสารหลักฐาน เกี่ยวกับการซื้อขายรถให้ดี เพราะหากผู้ที่ซื้อรถต่อจากคุณ ไม่ส่งค่างวดให้แก่ไฟแนนซ์ คุณอาจจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาได้ 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog