เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2545 หลังจากมันอุบัติขึ้นครั้งแรกในนกน้ำบริเวณอเมริกาเหนือ ซึ่งเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่จากนกสู่ม้า สุนัข และแมวน้ำได้ ทั้งนี้ ไม่มีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวในมนุษย์ ก่อนที่จะพบผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงถึงชีวิต 2 ราย ทั้งในจีน เมื่อช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค.ของปีที่แล้ว
หญิงที่เสียชีวิตเป็นหญิงวัย 56 ปีจากมณฑลกวางตุ้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดย WHO ระบุว่า เธอล้มป่วยลงเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ก่อนจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรงเมื่อวันที่ 3 มี.ค. และเสียชีวิตในวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา
“ผู้ป่วยมีอาการหลายอย่าง เธอมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีชีวิตก่อนที่จะเริ่มเกิดโรค และมีประวัตินกป่าอาศัยอยู่รอบๆ บ้านของเธอ” WHO ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (11 เม.ย.) “ไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ติดเชื้อหรือมีอาการป่วย ณ เวลาที่รายงาน” รายงานระบุเสริม
แม้ว่าการสัมผัสกับตลาดสัตว์ปีกมีชีวิต อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่ “ยังไม่ชัดเจนว่าแหล่งที่มาที่แท้จริงของการติดเชื้อนี้คืออะไร และไวรัสนี้เกี่ยวข้องกับไวรัสไข้หวัดนก A (H3N8) อื่นๆ แพร่ระบาดในสัตว์อย่างไร” WHO กล่าว โดยเรียกร้องให้มีการสืบสวนโรคในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม
WHO กล่าวเสริมว่า จาก 2 กรณีของผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก H3N8 เมื่อปีที่แล้ว ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งหนึ่งมีอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ในขณะที่อีกรายมีอาการเล็กน้อย ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้งสองกรณีน่าจะได้รับเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อโดยตรงหรือโดยอ้อม
“ดูเหมือนว่าไวรัสนี้ไม่มีความสามารถในการแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย ดังนั้นความเสี่ยงในการแพร่กระจายสู่มนุษย์ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติจึงถือว่าต่ำ” WHO ระบุก่อนกล่าวเสริมว่า “อย่างไรก็ดี เนื่องจากธรรมชาติของไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง WHO จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังทั่วโลก เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงทางไวรัสวิทยา ระบาดวิทยา และทางคลินิกที่เกี่ยวข้อง กับการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ (หรือสัตว์)”
ทั้งนี้ กรณีของเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์ มักเป็นผลมาจากการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสัตว์ปีกที่มีชีวิตหรือตายที่ติดเชื้อ หรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อน โดย WHO กล่าวว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ อาจส่งผลให้เกิดโรคได้ตั้งแต่เยื่อบุตาอักเสบ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดเล็กน้อย ไปจนถึงโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิต อย่างไรก็ดี มีการพบรายงานอาการทางระบบทางเดินอาหาร หรือทางระบบประสาท แต่อาการเหล่านี้พบได้ยากมาก
ที่มา: