ไม่พบผลการค้นหา
เพลงติดหูที่ยังคงอยู่ในกระแสที่พยายามหาเหตุผลว่า เขาไม่รักเราเพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า นอกเสียจากว่าเดือนเกิดหรือเบอร์โทรศัพท์อาจเป็นปัจจัยของคนที่ยังโสดอยู่ อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ทำการทดลองในประเทศญี่ปุ่นชี้ว่า เลือดกรุ๊ปบีที่อาจเป็นตัวแปรให้เขาไม่รัก ไม่เกี่ยวข้องกันกับโอกาศของการเกิดโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด

งานวิจัย ‘มีความเกี่ยวข้องระหว่างกรุ๊ปเลือดเอบีโอกับอาการซึมเศร้าในบุคลากรทางสาธารณสุขของญี่ปุ่นในช่วงการระบาดของโควิด-19 หรือไม่?’ ของโรงพยาบาลกลางแห่งศูนย์สุขภาพและการแพทย์โลกแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ PLOS เมื่อปี 2564 พบว่า กรุ๊ปเลือดต่างๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า

ทีมนักวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกรุ๊ปเลือดกับโอกาสในการเกิดโรคซึมเศร้าในญี่ปุ่นเมื่อปี 2563 โดยอาศัยการเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครบุคลากรทางสาธารณสุขญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ชายจำนวน 352 คน และผู้หญิง 864 คน อายุระหว่าง 21-73 ปี จากสถาบันทางการแพทย์ในกรุงโตเกียว ซึ่งมีหน้าที่นำในการตอบรับกับการระบาดโควิด-19 

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยพบว่า อาการซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับกรุ๊ปเลือดเอบีโอโดยรวมแล้ว ความชุกของอาการซึมเศร้ามีอยู่ที่ 22% โดยจากการวัดอาหารซึมเศร้าเปรียบเทียบกับพาหะของกรุ๊ปเลือดโอ เอ และเอบี กับเลือดกรุ๊ปบีพบค่าวัดผลอยู่ที่ 0.88 0.81 และ 1.07 ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่าไม่มีความแตกต่างของความชุกของอาการซึมเศร้าระหว่างคนกรุ๊ปเลือดต่างๆ และทีมวิจัยไม่พบความเชื่อมโยงของกรุ๊ปเลือดเอบีโอกับอาการซึมเศร้า

งานวิจัยยังชี้อีกว่ามีผลกระทบน้อยนิด จากการเชื่อมโยงระหว่างยีนที่เข้ารหัสกรุ๊ปเลือดดีบรเฮชและเอบีโอต่อระดับโดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกในน้ำเหลือง ทั้งนี้ การลดลงของระดับโดปามีนในน้ำเหลืองเพียงเล็กน้อย อาจกระตุ้นอาการซึมเศร้าในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน แต่อาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าในบุคคลที่มีสุขภาพดีได้ ในขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมในการศึกษามักเป็นคนงานที่มีสุขภาพดี ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมโยงระหว่างกรุ๊ปเลือดเอบีโอกับภาวะซึมเศร้าในกรณีที่มีนั้น อาจมีน้อยเกินไปที่จะถูกพบในการศึกษานี้

สรุปโดยรวมแล้ว คนทุกคนไม่ว่าจะมีกรุ๊ปเลือดอะไร ย่อมมีอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้าในอัตราที่พอๆ กัน โดยจากข้อมูลของโรงพยาบาลมหิดลระบุว่า ผู้ที่เริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ความคิดเปลี่ยนไป สมาธิความจำแย่ลง มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ไม่ร่าเริงแจ่มเหมือนก่อน การทำงานแย่ลง หรือรุนแรงถึงขั้นมีอาการทางจิต สามารถทำแบบสอบถามอาวะอารมณ์เศร้าได้ทาง https://med.mahidol.ac.th/infographics/76 

ทั้งนี้ เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากอาการตัวเองว่าร่างกายและจิตใจมี 5 อาการนี้หรือมากกว่า โดยผู้มีเกณฑ์ป่วยอาการซึมเศร้าจะต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป รวมถึงต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ ได้แก่

1.มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)

2.ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน

3.น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก

4.นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป

5.กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

6.อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

7.รู้สึกตนเองไร้ค่า

8.สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด

9.คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

หากท่านมีความสงสัยว่าตัวเองอาจเข้าข่ายมีอาการซึมเศร้า ท่านสามารถเข้ารับการปรึกษาและรักษาจากแพทย์ตามโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ การพบโรคที่เร็วย่อมส่งผลให้การรักษาทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ที่มา:

https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371%2Fjournal.pone.0256441&fbclid=IwAR2NoThkJhzqmZfdxbxNCptBX_DnunIayAuea5ws7H8_Z_z5GrvGcRkfONI

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017