เมื่อพ้นประตูเมืองสงขลาคือ ‘ย่านเมืองเก่าสงขลา’ ที่ขนาบด้วย 2 ทะเลคือ อ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา นอกจาก ‘ถนนนครนอก’ และ ‘ถนนนครใน’ ย่านเมืองเก่าสงขลายังเหมารวมถึง ‘ถนนนางงาม’ สายเลื่องชื่อ ซึ่งสวยหยาดเยิ้มด้วยสถาปัตย์ลูกผสมชิโน-ยูโรเปี้ยน โดยถนนทั้ง 3 เส้น ยาวเฉลี่ยประมาณ 1 กิโลเมตร ล้ำค่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ที่แอบซ่อนตัวตามซอกมุมต่างๆ แบบไม่รู้จักจบสิ้น
ไกลลิบๆ เกือบสุดสายตาจากประตูเมือง ยังสามารถมองเห็นปล่องควัน ‘โรงสีแดง’ หรือ ‘หับ โห้ หิ้น’ อายุกว่า 100 ปี และเมื่อช่วง 11-13 กลางเดือนมกราคมแดดระอุ พื้นที่ในโรงสีทอดยาวยันทะเลสาบหลังบ้าน ถูกเนรมิตรเป็นสถานที่จัดเทศกาลศิลปะครั้งแรกของเมืองสงขลา ‘เซาธ์ เฟส ไทยแลนด์’ (South Fest Thailand) งานศิลป์ที่คนสงขลาคาดหวังว่า มันจะเป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยผลักดันเมืองเก่าให้กลายเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น และความหวังไกลกว่านั้นก็คือ การก้าวสู่ฐานะ ‘เมืองมรดกโลก’
“เลือกเมืองเก่าสงขลา เพราะเป็นตัวแทนแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของสงขลา และภาคใต้” ถ้อยคำจาก บอย - ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ อาจารย์หลักสูตรออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และหัวเรี่ยวแรงหลักของทีมผู้จัดเซาธ์ เฟส ไทยแลนด์ช่วยบอกเล่าต้นตอโปรเจกต์เทศกาลศิลปะ 3 วัน
เซาธ์ เฟส ไทยแลนด์ เกิดจากไอเดียของ ไรอัน แอนเดอร์สัน นักทำสารคดีลูกครึ่งเยอรมนี-อเมริกัน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองหาดสมิหลามานานกว่า 10 ปี ความงดงามของมรดกทางวัฒนธรรมในสงขลา คือสิ่งหนึึ่งที่แอนเดอร์สันตกหลุมรัก ทว่ามันยังขาดแคลนการนำเสนอ เขาจึงพูดคุยกับกลุ่มภาคีคนรักสงขลา ริเริ่มโปรเจกต์เทศกาลศิลปะนานนับปี โดยมีชัยวัฒนภัทรมาร่วมหัวขบวน
“ปักหมุดให้สงขลาเป็นที่รู้จัก คือเวลาคนจากทั่วโลกมาเที่ยวไทย เขาจะเสิร์ชหาว่าจังหวัดไหนน่าเที่ยวบ้าง แล้วพอมาคิดถึงบ้านเรา สงขลาก็มีศักยภาพเหมือนกัน ของดีๆ เยอะ เลยคิดว่ามาทำอีเวนต์แบบนี้ให้สงขลาเป็นที่รู้จักกัน”
เทศกาลงานศิลปะครั้งแรกของสงขลา นำเสนอผลงานจากศิลปินหลากหลายแขนง พร้อมด้วยกิจกรรมหลากหลาย เพื่อให้ผู้มาร่วมงานสนุกกันตลอดวัน โดยมีเงินซัพพอร์ตจากหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรนอกประเทศ ในประเทศ และระหว่างประเทศ จึงสามารถเปิดคัดเลือกศิลปินจากนานาชาติ และมีผู้สมัครส่งพอร์ตฟอลิโอเข้ามากันมากกว่า 400 เล่ม
ทีมผู้จัดงานใช้เวลาคัดเลือกอยู่หลายเดือนจนเหลือเพียง 6 ศิลปิน ที่เปี่ยมด้วยสกิลศิลปะแตกต่างกัน ทั้งหมดมาฝังตัวอยู่ในจังหวัดสงขลาเฉลี่ยคนละ 1 เดือน เพื่อเรียนรู้ศิลปะท้องถิ่น จัดเวิร์กช็อปกับเด็กนักเรียน และคนท้องถิ่น รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่อนำมาจัดแสดงในช่วง 3 วันของเทศกาล
“เราให้ศิลปินจัดแสดงผลงานตามจุดต่างๆ ในเมือง (เก่า) ผู้ประกอบการหลายๆ คนเปิดร้านให้ศิลปินจัดแสดงงาน” เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน บวกกับความตั้งใจว่า ไม่ได้ต้องการให้ศิลปินหอบผลงานมาแสดงแล้วหอบกลับบ้าน โดยชิ้นงานไม่มีเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับท้องถิ่นนั้นๆ
ความตั้งใจดังกล่าวทำให้ผู้เข้าร่วมเทศกาลได้ชมหน้ากากคาร์นิวัลจากศิลปินอังกฤษ สตีฟ เอลเลียต ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นหน้าเวตาลสีแดง กระทั่งโชว์จาก เมารา โมราเลส นักออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยชาวเยอรมนี ซึ่งผสมผสานการแสดงระหว่างการเต้นคอนเทมโพรารีกับรำมโนราห์เข้าด้วยกัน และอื่นๆ อีกมากมาย
ถัดจากถนนนครนอกมา บนถนนนางงามคึกคักช่วงค่อนสายวันหยุดแรกของสัปดาห์ หลังฝนระลอกใหญ่ซาลง คนท้องถิ่นออกมามาหาของอร่อยคุ้นลิ้นรับประทานอย่าง ‘ข้าวสตูเกียดฟั่ง’ ที่ดัดแปลงใช้ซุปกระดูกหมูแทนสูตรสตูแบบตะวันตก ร่วมด้วยนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาถ่ายรูปกับกำแพงสตรีทอาร์ต
สำหรับภาพวาดบนกำแพง เริ่มต้นเพ้นท์กันช่วงปี 2559 ส่วนใหญ่สะท้อนวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นของผู้คนที่เกิด และเติบโตในย่านเมืองเก่าสงขลา ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งเช็กอินของหลายๆ คนในห้วงเวลาสั้นๆ
ถนนนางงามอันแน่นด้วยเรื่องเล่านับล้าน ผสมผสานทั้งสถาปัตยกรรมเก่าๆ หน้าตาจีนๆ ซึ่งยังมีผู้คนอยู่อาศัย ข้างเคียงกับคาเฟ่รีโนเวทใหม่ ที่มีลูกค้าเข้ามาดื่มกินกันหนาตา ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติใช้ชีวิตอย่างกลมกลืน ทั้งไทยจีน ไทยพุทธ และมุสลิม
อันที่จริงแล้ว เมืองเก่าสงขลาแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์หลากหลายที่ทับซ้อนนานตามกาลเวลา ในอดีต สงขลาในฐานะเมืองท่าจุดสำคัญฝั่งทะเลอ่าวไทย มีพ่อค้ามากมายเดินเรือมาค้าขาย จอดแวะพักเติมเสบียงกันครึกครื้น ไล่ตั้งแต่พ่อค้าชาวเปอร์เซีย พ่อค้าชาวมลายู จนกระทั่งพ่อค้าชาวตะวันตก
สถาปัตยกรรม คือหนึ่งเรื่องเล่าทรงพลัง และหลากหลาย เฉกเช่นช่วงกึ่งกลางถนนนางงามที่มีศาลเจ้าดังตั้งอยู่ใกล้กัน 2 แห่ง ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบศาลเจ้าเก๋งจีน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และศาลเจ้าพ่อกวนอู อันเป็นอัตลักษณ์ของการไหว้เจ้าเคารพบูชาของคนจีน ซึ่งอพยพเข้ามาทำมาหากินตามเส้นทางทะเลในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหนาแน่นบริเวณถนนนครนอก-ใน ตรงนี้
จากถนนนางงาม หากเดินตัดถนนสั้นๆ ชื่อว่า ‘ยะหริ่ง’ กลับขึ้นไปถนนนครนอก สุดหัวมุมจะพบกับคาเฟ่กรุกระจกใสอย่าง ‘สงขลา สเตชั่น’ ซึ่งเคยเป็นตึกเก่าทรงจีนสมัยใหม่ ได้รับอิทธิพลการออกแบบส่วนหนึ่งมาจากตะวันตก โชว์หลังคาปั้นหยาสะดุดตา ที่นี่มีการจัดแสดงงานผลงานเซรามิกปั้นมือของ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ศิลปินจากปัตตานี ร่วมกับตัวต่อไม้ไผ่ของศิลปิน มิเกล โมรีโน เมทีโอ ซึ่งสวมหมวกอีกใบในฐานะวิศวกรชาวสเปน งานศิลปะของเขามักผสมผสานแนวคิดเชิงนิเวศวิทยาเสมอ
นอกจากตัวต่อไม้ ผลงานอีกชิ้นของเมทีโอที่มีความน่าสนใจคือ ‘ขยะปิดทอง’ ที่เขาเดินเก็บขยะตามชายหาด และใช้ทองคำเปลวแปะปิดจนอร่ามตา เพื่อฉุดกระชากให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาขยะในท้องทะเล ผ่านการเพิ่มมูลค่าเชิงเสียดสีแบบไทยๆ
ณ สงขลา สเตชั่น เจ้าของร้านอุทิศชั้นบนอันกว้างขวาง ลมโกรกเย็นสบาย ให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ โดยเปิดให้ทั้งนักศึกษา หรือผู้คนทั่วไป สามารถมาใช้ประโยชน์ได้ไม่มีค่าใช้จ่าย
บ่ายวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ห้องเอนกประสงค์ดังกล่าว เป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อปของเฮเลน่า วาลลีย์ ดาลแลค์ ศิลปินภาพวาดชาวแคนาดา ที่จะชวนเด็กๆ มาวาดรูปลงบนแผ่นไม้กระดาน สื่อสารถึงเมือง ‘สงขลาของฉัน’ แต่อาจจะเพราะว่าเป็นวันหยุด ทำให้ผู้ร่วมเวิร์กช็อปไม่ได้มีแค่เด็กๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ใหญ่และศิลปินชาวสงขลาบางส่วนที่สนใจด้วย
ผู้ปกครองหญิงวัยกลางคน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น พาลูกสาวมาร่วมเวิร์กช็อปแต้มสีบนกระดานไม้ โดยภาพสงขลาของหนูน้อย คือนางเงือกสีสันสดใส ลายเส้นคมกริบของเด็กหญิงอายุราวสิบขวบถูกระบายอย่างบรรจง โดยคนเป็นแม่นั่งรอแบบไม่เร่งร้อนนับชั่วโมง
เพราะเธอดีใจที่ลูกมีโอกาสเข้ามาเวิร์กช็อปกับคนที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรมคนละมุมโลก ขณะเดียวกันสงขลาก็เป็นเมืองที่ศิลปะ และวัฒนธรรมงอกงามมาตั้งแต่อดีต และบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองได้ดีมาโดยตลอด เธอให้ลูกเรียนศิลปะแต่ยังเด็ก เพื่อให้มีสมาธิและจิตใจที่อ่อนโยน และเชื่อว่าพื้นที่ศิลปะ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ล้วนมีประโยชน์กับเด็กๆ มากในด้านวิถีชีวิต
ไม่ใกล้ไม่ไกลกับเด็กหญิง สีต่อสีถูกป้ายปาดลงบนแผ่นไม้กระดาน ซึ่งดาลแลค์รอจนมันแห้ง ก่อนที่ปลายมีดคัตเตอร์จะขุดกลับไปยังชั้นต่อชั้น ปรากฏภาพของกรอบสีดำ ใจกลางมีริ้วเส้นสีสันประหลาดตา นี่คือสงขลาของดาลแลค์ในรูปแบบแอ็บสแต็กอาร์ต หลังจากได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปินจัดแสดงงาน เธอบินมาสงขลาตั้งแต่สี่สัปดาห์ก่อนเทศกาลจะเริ่ม
“ฉันทดลองมันด้วยการทาหลายๆ สี หลายๆ เลเยอร์ แล้วใช้ปลายมีดค่อยๆ ขุดกลับมันลงไป เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนแรกที่มาสงขลา ฉันรู้สึกว่าหลายสถานที่มีโทนสีที่ออกจะหม่นๆ หน่อย แต่เมื่ออยู่ไปราวเดือนหนึ่ง ฉันรู้สึกว่าความมีชีวิตชีวาของเมืองนั้นดำรงอยู่ในใจของผู้คนที่นี่ เมื่อได้เจอผู้คน และนั่งพูดคุยกับพวกเขา”
ดาลแลค์ อธิบายถึงงานที่มีหน้าตาชวนพิศวงของตัวเอง เธอบอกว่า กรอบสีดำด้านนอกคือ หน้าต่างหนึ่งบาน หากมองออกไปจะพบสิ่งที่อยู่ด้านในคือ ความมีชีวิตของเมือง ที่อยู่ในตัวผู้คนที่อาศัยในย่านนี้
“มันคือความสดชื่นที่คุณไม่เห็นหรอก ถ้าคุณเดินบนถนนไปเรื่อยๆ เพราะที่ตรงนี้มันไม่พลุกพล่าน และสงบมาก”
การปลุกเมืองเก่าสงขลายังเป็นเรื่องท้าทาย แม้มันจะค่อยๆ ถูกรีโนเวตผ่านกิจการพาณิชย์โมเดิร์นหลากหลาย และคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ที่เปิดให้คนออกมารวมตัว แต่หากไม่ใช่ช่วงวันหยุด หรือเทศกาล คุณอาจจะไม่ได้เห็นความชีวิตชีวาชนิดตื่นตาตื่นใจ เพราะถึงเมืองเก่าจะเป็นสิ่งสำคัญของจังหวัดสงขลามาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อปี 2531 ที่สนามบินหาดใหญ่ถือกำเนิดขึ้น ความเจริญถูกผลักออกไปไกลจากตัวเมือง อำเภอหาดใหญ่ค่อยๆ ผงาดขึ้นเป็นตัวแทนของจังหวัดจวบจนปัจจุบัน กลบทิ้งความรุ่งเรืองของถนนทั้ง 3 สาย
ทว่าคนสงขลากลุ่มหนึ่งไม่เคยหมดหวัง เชื่อมั่นในศักยภาพ และมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่หลงเหลือตามท้องถนน บ้านเรือน น่านน้ำ และความเป็นอยู่ผู้คน ตั้งแต่เสน่ห์ของบ้านเรือนทรงชิโน-ยูโรเปี้ยน ร้านของชำบนถนนสายตึกแถวจีนดั้งเดิม ร้านขายยาสูบราคาส่ง อาหารมื้ออร่อยตามหัวมุมถนน ร้านน้ำชา กาแฟ ไล่เรื่อยจนถึงประมงพื้นบ้าน ที่จอดเรือกันอยู่บนทะเลสาบกลางเมือง
พวกเขาเชื่อว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกยังคงออกตามหา
“แต่ก่อนคนมาสงขลามาชายหาดสมิหลา แต่ตอนนี้มาเมืองเก่า เราไม่ใช่เมืองพักตากอากาศแล้ว เราเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรมด้วย” อาจารย์ชัยวัฒนภัทรเล่าให้ฟัง พร้อมบอกอีกด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เมืองเก่าสงขลาเปลี่ยนแปลงไปมาก
เรื่องความเปลี่ยนแปลงคือ ภาพเมืองเก่าสมัย 10 ปีก่อนเข้าขั้นเสื่อมโทรม จากเป็นท่าเรือกลายมาเป็นแหล่งยาเสพติด ใครที่มีประสบการณ์เคยพบเห็น หรือทำมาหากินอยู่ย่านเมืองเก่าก็พร้อมบอกตรงกันว่า เมืองเก่าเมื่อ 10 ปีก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันยิ่งนัก
จากปากคำอาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรฏ.สงขลา เมืองเก่าเริ่มเปลี่ยนแปลงจากวิสัยทัศน์ของ รังสี รัตนปราการ เจ้าของโรงสีแดงรุ่น 3 ผู้ไม่อยากให้คุณค่าความเป็นเมืองเก่าเลือนหายไป
จากนั้น การจัดตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมจึงเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2552 โดยรังสีนั่งเป็นประธานคนปัจจุบัน ขับเคลื่อนพัฒนาเมืองสงขลาหลากหลายสัดส่วนไปพร้อมๆ กันด้วยพลังของอาสาสมัครคนเมืองสงขลาเอง
เมื่อ สตรีทอาร์ต เป็นเครื่องมือหนึ่งของการฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลาที่ได้ผล ล่าสุดความหวังคือ เซาธ์ เฟส ไทยแลนด์ ที่กลุ่มผู้จัดเชื่อว่า มันจะสานต่อได้ในทุกๆ ปี เพื่อจุดประกายบางอย่างให้กับเมือง โดยเป้าหมายใหญ่ยักษ์คือ การยกระดับเมืองสู่เมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม หากสามารถพาเมืองเก่าสงขลาไปถึงจุดนั้นได้ สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือนักท่องเที่ยวที่อยากชม ‘มรดกของโลก’ และคนสงขลาที่หวงแหน ‘มรดกของเรา’
“งานเซาธ์ เฟส ไทยแลนด์ เราอยากให้ศิลปินเขาเป็นบุคคลสำคัญ อย่างเอลเลียตไปจัดงานคาร์นิวัลมาแล้วทั่วโลก เขามาเที่ยวไทย เหนือจรดใต้ แล้วมาทำเวิร์กช็อปที่สงขลา
“ก่อนหน้านี้เมธีโอก็จัดงานที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมันบ่งบอกว่า สงขลากับเซี่ยงไฮ้ก็เลเวลเดียวกันเมาราเขาก็กำลังจะกลับไปแสดงผลงานในเยอรมนีต่อ โดยจะเอาการแสดงผสมมโนราห์ที่ครีเอทที่นี่กลับไปด้วย เราหวังผลตรงนี้ อยากให้มีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน แล้วก็เผยแพร่สู่ต่างประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย
“มรดกโลกมันเป็นความยั่งยืนอย่างหนึ่ง ทำให้สงขลาเทียบชั้นเมืองปีนัง เมืองมะละกา ซึ่งห่างกันแค่หลักร้อยกิโลฯ แต่เขามีนักท่องเที่ยวมากกว่า 3 เท่า ถ้าสงขลาเมืองเก่าเป็นมรดกโลก ก็คงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเท่าเมืองพวกนั้น”
2 ปีที่แล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้นำ 5 หน่วยงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดทำแผนแม่บทสงขลาสู่มรดกโลก ในแง่ของเมืองพหุวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงแค่เมืองเก่าเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม การยื่นพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นเรื่องซับซ้อน ใช้เวลา และจะต้องแสดงให้เห็นถึงคุณค่าชัดเจน แท้จริง ดังข้อกำหนดเช่นว่า เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์... ทำให้ปัจจุบันมีเพียง 5 แห่งเท่านั้นในประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสู่มรดกโลก ทั้งทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ คือ 1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร 2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร 3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง 5. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ช่วงเย็นคล้อยของวัน เมื่อเดินทอดน่องเพลินๆ ไประแวกเมืองเก่า และลองแวะพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขาย พวกเขาต่างบอกว่า เคยสดับรับฟังเรื่องผลักดันสงขลาสู่เมืองมรดกโลกเช่นกัน บ้างก็คิดว่า ‘เป็นไปได้’ บางส่วนยัง ‘ไม่แน่ใจนัก’ เพราะต้องใช้เวลาพัฒนา แต่ถ้าให้เทียบชั้นกับเมืองปีนัง หรือเมืองมะละกาจริงๆ อาจต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีขึ้น อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั่วถึง ทั้งสถานที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และระบบขนส่ง
ทางด้าน กุ๊กไก่ – ทัตพิชา บุญยะมาส ครูสอนศิลปะเด็กในเมืองสงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งคนที่เชื่อว่า เมืองเก่ารวมถึงพื้นที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งด้านธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ สามารถเทียบขึ้นเป็นเมืองมรดกโลกได้ แต่เมื่อถามกลับว่า อีกนานเท่าไหร่? เธอทำท่าคิด
“การผลักดันมันขึ้นอยู่กับหลายส่วน ก่อนอื่นคนในจังหวัดต้องช่วยกัน ต้องมีระเบียบวินัย สำคัญมาก ต้องฝึกเด็กๆ แต่เล็กให้รู้จักเรื่องนี้ และคุณค่าของเมืองเรา”