“ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติการของ F-16 ในยูเครน และจำนวนนักบินและเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงที่จำเป็นก็ไม่มีเช่นกัน” อันโทนอฟกล่าวผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมของสถานทูตรัสเซียเมื่อวันจันทร์ (22 พ.ค.) “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเครื่องบินรบอเมริกัน บินขึ้นจากสนามบินของ NATO ซึ่งควบคุมโดย 'อาสาสมัคร' ต่างชาติ” อันโทนอฟตั้งคำถาม
โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องในก่อนหน้านี้ ให้ชาติพันธมิตรตะวันตกจัดหาเครื่องบินรบขั้นสูงแก่ยูเครนมาเป็นเวลาหลายเดือน ท่ามกลางความกังวลว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการยกระดับสถานการณ์โดย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความวุ่นวายทางการทูตโดย หลังเซเลนสกีเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่เพิ่งปิดฉากไปในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ มาร์ก รูทเทอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พวกเขาตกลงที่จะสร้าง “แนวร่วมระหว่างประเทศ” เพื่อจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อมอบการสนับสนุนแก่ยูเครน
หลังจากนั้นต่อมาในวันศุกร์ (19 พ.ค.) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับรองโปรแกรมการฝึกสำหรับนักบินยูเครนบนเครื่องบินขับไล่ F-16 โดยเซเลนสกีให้คำมั่นกับไบเดนว่า เครื่องบินจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ กรูชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ได้ออกมาเตือนว่าประเทศตะวันตกจะตกอยู่ใน “ความเสี่ยงมหาศาล” หากพวกเขาดำเนินการจัดหา F-16 ให้แก่ยูเครนต่อไป
อันโทนอฟกล่าวว่าการโจมตีไครเมียของยูเครน ซึ่งรัสเซียได้เข้ารุกรานและผนวกไปเป็นของตัวเองเมื่อปี 2557 จะถือเป็นการโจมตีรัสเซีย “เป็นเรื่องสำคัญที่สหรัฐฯ จะต้องตระหนักอย่างเต็มที่ ถึงการตอบโต้ของรัสเซีย” อันโทนอฟกล่าว
ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือไครเมียของยูเครน
ที่มา: