ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก ตรวจเข้มต่อเนื่องรถตู้โดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้างใน กทม. ป้องกันปัญหาการให้บริการผิดกฎหมาย เฉพาะเดือนเมษายน 2561 ตรวจสอบการให้บริการทั้งสิ้น 17,555 คัน พบกระทำความผิด 521 ราย

นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก จัดเจ้าหน้าที่ตรวจการลงพื้นที่กวดขันการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ เน้นมาตรการเฝ้าระวังตรวจจับ เปรียบเทียบปรับ อย่างเข้มข้นจริงจัง ควบคู่กับการให้คำแนะนำการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้บริการของประชาชน ทั้งนี้ เฉพาะเดือนเมษายน 2561 ตรวจสอบรถตู้โดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร รวม 17,555 คัน พบกระทำความผิด 521 ราย

จากการตรวจสอบรถตู้โดยสารสาธารณะจำนวน 6,390 คัน พบการกระทำความผิด จำนวน 61 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนควบของตัวรถไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ถูกต้อง จำนวน 12 ราย นำรถออกนอกเส้นทางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 9 ราย ใช้รถไม่จดทะเบียนและไม่ชำระภาษี 7 ราย เป็นต้น ส่วนรถแท็กซี่ ตรวจสอบ 9,322 คัน พบกระทำความผิด จำนวนรวม 387 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ นำรถหมดอายุมาใช้งาน จำนวน 144 ราย ใช้รถไม่จดทะเบียน 74 ราย ใช้รถไม่ตรวจรอบมิเตอร์ตามที่กำหนด จำนวน 53 ราย ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 35 ราย ขับรถไม่แสดงใบอนุญาตหรือสำเนาคู่มือรถ จำนวน 15 ราย ใช้รถไม่ชำระภาษี 10 ราย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ พบฝ่าฝืนทำความผิดรวม 73 ราย (จากการตรวจสอบทั้งสิ้น 1,843 คัน) เป็นความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลป้ายดำมารับจ้างส่งผู้โดยสาร จำนวน 65 คัน ใช้รถไม่ชำระภาษีอีกจำนวน 4 คัน และขับรถไม่แสดงใบอนุญาตหรือสำเนาคู่มือรถอีก 4 คัน โดยกรมการขนส่งทางบกดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิดทุกราย พร้อมส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการและสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อผู้โดยสารทุกคน บันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติ ผู้ขับรถสาธารณะ หากพบการกระทำความผิดในลักษณะเดิมพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ประชาชนควรเลือกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมายที่มีการกำกับดูแล และดำเนินการติดตัวได้ทันทีกรณีที่เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ เนื่องจากข้อมูลของผู้ขับรถทุกคนถูกบันทึกไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ อีกทั้งก่อนการขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะได้มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการที่ดี ผู้ให้บริการต้องให้บริการตามมาตรฐานความปลอดภัย ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร

อย่างำรก็ตามหากพบปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ให้จดจำรายละเอียด หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ สถานที่ใช้บริการ วันเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยร้องเรียนมายังกรมการขนส่งทางบก หรือร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ หรือผ่านทางอีเมล [email protected], และเฟซบุ๊กเพจ 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ หรือแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน โทร. 1584 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง