ไม่พบผลการค้นหา
สบค. พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 27 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต พร้อมแนะประชาชนชั่งใจก่อนออกจากบ้าน แม้สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงแล้ว เสี่ยงทำให้เกิดการระบาดมากขึ้น

วันที่ 20 เม.ย. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 27 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,792 คน จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 1,999 คน ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ. 746 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 27 คนนี้

  • กลุ่มแรก 26 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังฯ ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้, ผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว ผู้มีอาชีพเสี่ยง และบุคลากรทางการแพทย์
  • ส่วนกลุ่มสอง 1 คน เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ใน State Quarantines จ.กระบี่

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,792 คนนั้น มาจากทั้งหมด 68 จังหวัด โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 10 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพฯ 1,440 คน, ภูเก็ต 192 คน, นนทบุรี 151 คน, สมุทรปราการ 108 คน, ยะลา 101 คน, ปัตตานี 90 คน, ชลบุรี 86 คน, สงขลา 56 คน, เชียงใหม่ 40 คน และปทุมธานี 34 คน

โดย 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบด้วย กำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พิจิตร, ระนอง, สิงห์บุรี และอ่างทอง ขณะที่พบว่าจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วันขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 35 จังหวัดแล้ว

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ได้มีการนำเสนอชุดข้อมูลด้านระบาดวิทยา จากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยกรณีแรก หากยังสามารถรักษาอัตราส่วนการแพร่เชื้อไว้ได้ที่ 1 : 1.12 คน ก็คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีผู้ติดเชื้อรวม 200 คน และปลายเดือนมิ.ย.63 จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงเหลือเพียง 22 คน แต่อีกกรณี คือหากอัตราส่วนการแพร่เชื้อเพิ่มไปอยู่ที่ 1 : 1.8 คน ก็คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีผู้ติดเชื้อ 336 คน และปลายเดือนมิ.ย.63 จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไปถึง 2,419 คน

โดยชุดข้อมูลนี้ เป็นการฉายภาพเพื่อให้ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ รวมถึงสถานพยาบาลให้เพียงพอรองรับ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็นแนวโน้มการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการค้นหาและลดการแพร่เชื้อในที่ชุมชน

ซึ่งแนวทางที่ได้หารือกันของกระทรวงสาธารณสุข คือ 1.ติดตามหาผู้สัมผัสให้เจอ 2.ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ใช้แรงงาน 3.ค้นหาในพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และ 4.ป้องกันการแพร่เชื้อในสถานพยาบาล

สำหรับข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ กรณีผู้ที่เตรียมจะเดินทางกลับเข้าประเทศไทย พบว่าในเดือน พ.ค.นี้ มีผู้แจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับเข้าไทยแล้ว 8,998 คน จาก 14 ประเทศ เช่น จากสหรัฐ 1,950 คน, ออสเตรเลีย 786 คน, นิวซีแลนด์ 600 กว่าคน, อินเดีย 600 กว่าคน, ญี่ปุ่น 280 คน, ซาอุดีอาระเบีย 290 คน, อาหรับเอมิเรตส์ 335 คน, อินโดนีเซีย 500 คน, เมียนมา 600 คน, กัมพูชา 500 คน, เกาหลีใต้ 400 คน, ฟิลิปปินส์ 330 คน, มัลดีฟส์ 160 คน, และศรีลังกา 40 คน

ผู้ที่จะเดินทางกลับมาเหล่านี้ จะมีมาตรการทั้งการลงทะเบียนจากกระทรวงการต่างประเทศ ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly ยืนยันว่ายังต้องมี่ เพราะขนาดขอมาแล้วยังพบว่ามีการติดเชื้อ ดังนั้นต้องไม่ย่อหย่อน มาตรการยังชัดเจน

ส่วนสถานที่กักกันโดยรัฐกำหนดให้ (State Quarantines/Local Quarantines) นั้น มีอยู่ทั่วประเทศ 796 แห่ง รองรับได้ 20,941 คน ขณะนี้มีผู้เข้าพักเพื่อสังเกตอาการอยู่ 2,339 คน

แนะ ปชช. พิจารณาก่อนออกจากบ้าน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง

นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า จากปัจจุบันที่เริ่มพบว่าประชาชนทั่วไปเริ่มเดินทางออกจากบ้านและเริ่มออกมาทำงานกันมากขึ้น หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มลดลงในช่วงหลายวันที่ผ่านมานั้น พฤติกรรมดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดมากขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ได้หายไปไหน แต่อาจอยู่ในกลุ่มคนที่ยังไม่แสดงอาการ

ดังนั้นการป้องกันตัวเองจึงยังเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ หากจะดูจากบางประเทศที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพด้วยการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงนั้น จะพบว่าประเทศดังกล่าวยังมียอดการติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตแต่ละวันในระดับสูง ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักให้รอบคอบ และเห็นว่าเรื่องชีวิตและสุขภาพน่าจะต้องมาก่อน

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มผู้ใจบุญออกมาแจกอาหาร และบริจาคสิ่งของให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการจัดระเบียบที่ดี และอาจเพิ่มโอกาสของการแพร่ระบาดได้มากขึ้นนั้น นพ.ทวีศิลป์ เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงด้วยว่านอกจากผู้ให้จะสุขใจแล้ว ผู้รับจะต้องปลอดโรค และสังคมต้องปลอดภัยด้วย ดังนั้น หากจะมีการแจกสิ่งของหรืออาหารในลักษณะเช่นนี้ ก็ขอให้ประสานไปยังสำนักงานเขต หรืออำเภอ เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ออกมาช่วยจัดระเบียบในเรื่องของสถานที่ และการเข้าคิวให้เหมาะสมและไม่เสี่ยงต่อการติดโรคได้