ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความแสดงความข้องใจที่ สนช. เตรียมผ่านร่าง พ.ร.บ.เปิดทางให้เบี้ยประชุมตุลาการแต่ละครั้งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงาน ไม่แม้กระทั่งการพิจารณาถึง "หลักความพอเพียง" ที่มักชอบกล่าวอ้างกันเสมอเมื่ออธิบายถึงสถาบันนี้

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์บทความของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง "เมื่อเบี้ยประชุมตุลาการหนึ่งครั้ง มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำกรรมกรหนึ่งเดือน" ความว่า สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) กำลังจะพิจารณาและให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่จะให้ค่าตอบแทนสำหรับการประชุมของตุลาการแต่ละครั้งโดยประธานได้ 10,000 บาท ผู้เข้าร่วม 8,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยซึ่งโดยเฉลี่ยเท่ากับประมาณวันละ 300 บาทแล้ว หมายความว่าการประชุมของผู้ทรงความยุติธรรมในหนึ่งครั้งมีจำนวนมากกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือน

ทั้งนี้ ไม่ว่าทางผู้เสนอร่างกฎหมายจะอ้างเหตุผลใดประกอบก็ตาม แต่ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการยืนยันให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของคณะรัฐประหาร ตุลาการ และ สนช. เท่านั้น

โดยมีคณะรัฐประหาร ทำหน้าที่เป็นกองหน้าของการยึดอำนาจและทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการใช้กำลังทางการทหาร แต่ลำพังเพียงกำลังบังคับไม่สามารถทำให้คณะรัฐประหารสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง การรับรองความชอบด้วยกฎหมายมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

สำหรับตุลาการ การให้การรับรองทางกฎหมายต่อคณะรัฐประหารและการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่สืบเนื่องมานับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 จวบจนกระทั่งการใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ตามรัฐธรรมนูญ 2557) ที่ยังปรากฏอยู่กระทั่งในปัจจุบัน กลายเป็นหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้แก่คณะรัฐประหารในการใช้อำนาจของตนตามอำเภอใจ แม้จะเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพหรือหลักการทางกฎหมายใดๆ ก็ตาม 

จึงไม่ประหลาดใจเมื่อ สนช. (ซึ่งล้วนมาจากการแต่งตั้งคณะรัฐประหาร) จะทำหน้าที่ในฐานะผู้มอบผลประโยชน์ให้กับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการรัฐประหาร ด้วยการผ่านกฎหมายหลายฉบับที่บันดาลประโยชน์โภชผลแก่กลุ่มคนเหล่านั้น การขึ้นเงินเดือนให้กับองค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการโดยให้มีผลย้อนหลังถึง พ.ศ. 2557 รวมถึงการขึ้นเบี้ยประชุมให้กับฝ่ายตุลาการที่กำลังดำเนินการกันอยู่อย่างขมีขมันก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำนี้  

ไม่มีการตระหนักถึงเหตุผลของการให้เบี้ยประชุมตอบแทน ทั้งที่เป็นงานตามปกติของฝ่ายตุลาการที่กระทำในเวลาราชการ ความเท่าเทียมกับราชการส่วนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาถึง “หลักความพอเพียง” ที่มักชอบกล่าวอ้างกันเสมอเมื่ออธิบายถึงสถาบันแห่งนี้

การดำรงอยู่ของสถาบันใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่เพียงอาศัยกำลังอำนาจบังคับแบบดิบเถื่อนเท่านั้น ความชอบธรรมและการสนับสนุนจากสังคมจะมีส่วนอย่างสำคัญที่พึงต้องตระหนักด้วยเช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง