ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคสช. ทำงบประมาณประจำปีรวมกันแล้วสูงถึง 11 ล้านล้านบาท แต่เหตุใดกลับ ต้องทำงบรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีถึง 3 ครั้ง และทำงบประมาณขาดดุลทุกปี เป็นเพราะเหตุใด

ไม่กี่วันมานี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2561 แบบ 3 วาระรวด ภายในเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

โดยการจัดทำงบฯ เพิ่มเติมดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลมีเงินไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 150,000 ล้านบาท (รวมงบฯ ชดใช้คืนเงินคงคลัง) จากเดิมที่ปีงบประมาณ 2561 นี้ ตั้งงบฯ รายจ่ายไว้แล้ว 2,900,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้งบประมาณ 'ขาดดุล' เพิ่มขึ้นเป็น 550,000 ล้านบาท จากเดิม 450,000 ล้านบาท

รัฐเก็บรายได้ภาษีต่ำเป้าทุกปี

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลต้องตั้งงบฯ ขาดดุลมาโดยตลอดนั้น เหตุผลง่าย ๆ คือ 'รายได้ไม่พอรายจ่าย' โดยสาเหตุสำคัญ มาจากการที่ 'รายได้ภาษี' ของ 3 กรมภาษี (กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต และ กรมศุลกากร) จัดเก็บรวมกันแล้ว 'ต่ำกว่าประมาณการ' มาทุกปี 

โดยนับตั้งแต่ปี 2557 ที่เป็นปีแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ กระทั่งปีปัจจุบัน การเก็บรายได้รวมของ 3 กรมภาษี ก็ยังไม่สามารถทำได้สูงกว่าประมาณการเลย ส่งผลให้ภาพรวมรายได้รัฐที่แม้จะมีรายได้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นมาช่วย ก็ยังต่ำกว่ารายจ่ายมาโดยตลอด

ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2561 'กุลยา ตันติเตมิท' โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรก (ต.ค.2560-ก.พ.2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 908,210 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 39,440 ล้านบาท หรือ 4.5%

สำหรับสาเหตุที่รายได้รัฐยังดูสูงกว่าประมาณการ เนื่องจาก การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการถึง 30% หรือจำนวน 14,898 ล้านบาท และ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ 18.8% หรือจำนวน 14,884 ล้านบาท ส่วนรายได้ภาษีของ 3 กรม ยังคงเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการอยู่เช่นเดิม

งบ 4 ปี คสช..jpg

รายจ่ายสูงต้องตั้ง 'งบฯขาดดุล' ตลอด        

หากย้อนกลับไปดู จะพบว่า นับแต่รัฐบาล คสช. เริ่มจัดทำงบประมาณประจำปีเอง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 กระทั่งปัจจุบันปีงบประมาณ 2561 (คสช.ยึดอำนาจเดือน พ.ค.2557) ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายแล้วรวมเบ็ดเสร็จแล้วทั้งสิ้น 11,324,000 ล้านบาท โดยเป็นงบฯ ขาดดุล รวม 1,517,921.7 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เกิดจากการตั้งงบฯ เพิ่มเติม หรือ 'งบฯ กลางปี' ถึง 3 ครั้ง (3 ปี) รวม 396,000 ล้านบาท

สำหรับปีงบประมาณ 2558 ที่รัฐบาล คสช. เริ่มทำงบฯ เองเป็นปีแรกนั้น มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 2,575,000 ล้านบาท โดยกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงสุด 501,326.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของงบฯ รายจ่ายทั้งหมด รองลงมา เป็นรายการงบฯ กลาง 375,708.1 ล้านบาท สัดส่วน 14.6% กระทรวงมหาดไทย 340,171.6 ล้านบาท สัดส่วน 13.2% กระทรวงกลาโหม 192,949.1 ล้านบาท สัดส่วน 7.5% กระทรวงการคลัง 185,852.2 ล้านบาท สัดส่วน 7.2%

อัดงบฯกลางปีซื้อใจรากหญ้า

ต่อมาปีงบประมาณ 2559 ครั้งแรก รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ 2,720,000 ล้านบาท ทว่า ภายหลังได้มีการจัดทำงบฯ เพิ่มเติมอีก 56,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบฯ รายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2,776,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้รายการงบฯ กลางที่เป็นอำนาจอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยความเห็นชอบของ 'นายกรัฐมนตรี' ได้รับจัดสรรสูงสุดที่สัดส่วน 16.4% หรือจำนวน 455,382.5 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมก่อนทำงบฯ เพิ่มเติมที่ได้รับจัดสรรที่ 422,721.4 ล้านบาท

จากนั้นในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลก็เริ่มจากตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ 2,733,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น รัฐบาลก็ใช้วิธีตั้งงบฯ เพิ่มเติมอีกเป็นปีที่ 2 จำนวน 190,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบฯ รายจ่ายในปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2,923,000 ล้านบาท โดยงบฯ เพิ่มเติมส่วนใหญ่ ก็ยังคงถูกถมไปที่รายการงบฯ กลางเป็นส่วนใหญ่ ทำให้งบฯ กลางมีสัดส่วนถึง 15.4% หรือจำนวน 448,880.5 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 406,016 ล้านบาท

โดย 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี พยายามกระจายงบฯ ไปในระดับท้องถิ่น ผ่านทาง 'จังหวัดและกลุ่มจังหวัด' ที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเป็น 82,671.4 ล้านบาท สัดส่วน 2.8% จากเดิมได้รับจัดสรรแค่ 26,432.7 ล้านบาท ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรเพิ่มเป็น 94,417.9 ล้านบาท จากเดิม 88,267.4 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม เป็น 157,389.9 ล้านบาท จากเดิม 150,750 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมี 'กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน' ที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเป็น 183,985.3 ล้านบาท จากเดิม 138,985.3 ล้านบาท เนื่องจากมีการ “เติมเงิน” ให้แก่ “กองทุนหมู่บ้าน” อีกหมู่บ้านละ 500,000 บาทนั่นเอง

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณนี้ ยังมีการใช้เงินจ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท และ ผู้มีรายได้ต่ำมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินคนละ 1,500 บาท

มาถึงปีงบประมาณ 2561 ในปัจจุบัน เดิมรัฐบาลตั้งงบฯ รายจ่ายไว้ที่ 2,900,000 ล้านบาท แต่ก็มาตั้งงบฯ เพิ่มเติม หรืองบฯ กลางปีอีกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จำนวน 150,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบฯ รายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 3,050,000 ล้านบาท

'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' รมว.คลัง บอกว่า งบฯ เพิ่มเติมส่วนแรกจะใช้สำหรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (สวัสดิการคนจน เฟส 2) จำนวน 35,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ใช้ผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ในระดับตำบล และ กองทุนหมู่บ้าน เน้นให้ทำโครงการที่เป็นการปฏิรูปประเทศ จำนวน 35,358.1 ล้านบาท และ ส่วนที่ 3 ใช้ปฏิรูปภาคการเกษตร มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตอีก 30,000 ล้านบาท

โดยทุกปี 5 หน่วยงานหลักจะได้รับจัดสรรงบฯ สูงสุด ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ, งบกลาง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงการคลัง

สรุปแล้ว รัฐบาลยุค คสช. เดินหน้าทำงบฯ รายจ่ายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยไม่เพียงแต่จัดทำงบฯ ปกติเท่านั้น แต่ยังใช้การจัดทำงบฯ เพิ่มเติมต่อเนื่องใน 3 ปีงบประมาณล่าสุด กระทั่งปีงบประมาณ 2561 งบฯ รายจ่ายสูงขึ้นจน 'ทะลุเกิน 3 ล้านล้านบาท' ไปแล้ว แม้ว่าจะสวนทางกับรายได้ภาษีที่ยังไม่สามารถจัดเก็บได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ในแต่ละปีก็ตาม