ข่าวที่นายชัยชนะ ศิริชาติ หรือ 'เอ็ม' ทำร้ายแฟนสาวด้วยอาวุธสารพัดอย่าง พร้อมถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กเป็นข่าวที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ไม่มีใครติดใจว่าทำไมนายเอ็มจึงทำร้ายแฟน เพราะตำรวจพบสารเสพติดในร่างกายของเขา และเขาได้พูดไว้ในเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าผู้หญิงนอกใจ ธุรกิจของเขาก็มีปัญหา
คนจึงหันไปตั้งคำถามกับผู้หญิงว่าทำไมไม่สู้ ทำไมไม่เลิกกับผู้ชายไปเสียก่อน และเมื่อมีข้อมูลที่เปิดเผยว่านายเอ็มมีพฤติกรรมชอบทำร้ายคู่รักมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้คนตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วทำไมผู้หญิงจึงยอมทน บางคนจิตใจโหดร้ายหน่อยก็พูดไปถึงขั้นว่าสมน้ำหน้าผู้หญิงแล้วที่นอกใจ หรือสมน้ำหน้าที่ดันทนผู้ชายคนนี้เพราะ 'รัก'
เวลาที่เราเป็นคนนอก ทุกอย่างง่ายเสมอ ไม่ว่าจะได้ฟังเหตุผลกี่ข้อที่ผู้ถูกทำร้ายยอมทนอยู่กับคู่รักที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ทุกอย่างล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งนั้นสำหรับคนนอก เพราะเรามองไม่เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ ทั้งทางอารมณ์ การเงิน และสังคม
แต่จริงๆ แล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกเล่าถึงสาเหตุที่ผู้ถูกกระทำไม่ยอมจากไป
เหตุผลทางอารมณ์
หลายคนเชื่อว่าคู่รักจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เนื่องจากเขาแสดงให้เห็นว่ารู้สึกเสียใจมากกับสิ่งที่ทำลงไป สัญญาว่าจะไม่ทำอีก และช่วงเวลาที่ไม่ทะเลาะกัน เขาก็ดูแลคู่รักอย่างดี จึงทำให้หลายคนยังรักและผูกพันกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง บางคนเชื่อว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้อีกคนได้ และเมื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ คู่รักก็จะกลับมาอ่อนโยนเหมือนเดิม
สำหรับคู่สมรสบางคนรู้สึกผิดที่ความสัมพันธ์ล้มเหลว และพยายามจะประคับประคองความสัมพันธ์ต่อไป โดยเฉพาะคนที่มีลูกแล้วและไม่อยากให้ลูกขาดพ่อหรือแม่ รวมไปถึงความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะเสียสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรด้วย ส่วนบางคนเชื่อว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ถูกทำร้าย บางคนรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจในการหาทางออกให้ชีวิต หรือบางคนกลัวว่าหากแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เขาอาจใช้ความรุนแรงหนักขึ้น จนเป็นเหตุให้ถูกฆ่า
เหตุผลด้านการเงิน
การเดินออกจากความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรงอาจไม่ง่ายนัก สำหรับหลายคนที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากคู่รักในการซื้อข้าวของและดูแลลูก ดังนั้น การเดินออกจากความสัมพันธ์นั้นจะทำให้เกิดความเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชีวิต และการต้องหางานเลี้ยงชีพตัวเองก็เป็นเรื่องท้าทายมาก สำหรับคนที่มีทักษะและประสบการณ์ทำงานน้อย หรืออายุมากแล้ว
เหตุผลด้านสังคม
ศาสนา วัฒนธรรม และสภาพสังคม ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หลายคนไม่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ เพราะรู้สึกอับอาย หรือถูกคนอื่นตั้งคำถามว่าผู้ถูกกระทำบกพร่องตรงไหน หรือทำอะไรให้อีกฝ่ายรู้สึกโกรธขนาดนั้น บางคนกลัวคนอื่นจะไม่เชื่อ เพราะคู่รักมีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคมมากกว่า หรือคู่รักอาจมีภาพลักษณ์ที่ดีจนคนอื่นอาจไม่เชื่อว่าเขาจะใช้ความรุนแรงกับใครได้ ส่วนบางคนก็กลัวว่าจะมีเหล่าผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้ายนำภาพที่ตัวเองถูกทำร้ายไปเผยแพร่ในหน้าสื่อต่างๆ
มีหลายกรณีที่ผู้ถูกกระทำไม่เพียงแต่พึ่งพาผู้กระทำทางการเงิน แต่รวมถึงทางสังคมด้วย เพราะผู้ถูกกระทำไม่มีเพื่อนฝูงหรือญาติสนิทที่สามารถพึ่งพาหรือขอความช่วยเหลือได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีข้อมูลว่าควรต้องทำอย่างไรหรือไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดได้ และหลายครั้งผู้ถูกกระทำเชื่อว่าหน่วยงานรัฐจะไม่ช่วยเหลือ เพราะมองว่าเป็น 'เรื่องผัวเมีย'
ทำไมเราไม่ตั้งคำถามกับผู้กระทำให้มากขึ้น?
ค่อนข้างน่าเศร้าที่เราต้องมานั่งอธิบายให้สังคมทั่วไปเข้าใจเหตุผลว่าทำไมผู้ถูกกระทำจึงยังรักหรือยังทนโดนทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเวลานานหลายปี แทนที่จะตั้งคำถามว่าทำไมคนคนหนึ่งจึงลุกขึ้นมาทำร้ายคู่รักของตัวเอง แล้วมีวิธีป้องกันได้หรือไม่ และมีวิธีบำบัดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงได้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้อ่านข่าวทั่วไปเท่านั้น แต่งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับตัวผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัวเองก็มีน้อยมากเช่นกัน
จากสถิติแล้ว ผู้ที่เคยมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงในครอบครัวมักจะทำซ้ำอีก แม้จะมีคนรักใหม่ ก็มีแนวโน้มว่าจะใช้กำลังกับคนรักใหม่ด้วย จึงเป็นเหตุผลให้หลายคนเลือกที่จะสรุปแบบง่ายๆ ว่าคนเหล่านี้จิตใจไม่ดีมาตั้งแต่ต้น และจะไม่มีวันเปลี่ยนไป จึงไม่ต้องพยายามหาวิธีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมรุนแรงนี้ได้ แล้วโยนความรับผิดชอบไปให้ผู้ถูกกระทำเป็นผู้แบกรับหน้าที่ในการจัดการตัวเองแทน
ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือสหรัฐฯ จะมีหน่วยงานที่จัดโปรแกรมบำบัดให้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรง ไม่เพียงแต่ทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทางวาจาด้วย ส่วนทางจิตวิทยา จะมีนักจิตวิทยามาช่วยปรับพฤติกรรมให้ ซึ่งคนที่ไปบำบัดก็ไม่ได้มีแต่คนที่มีคดีใช้ความรุนแรงในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีคนที่รู้ตัวว่าตนเองมีปัญหาเรื่องการใช้อารมณ์และมีพฤติกรรมรุนแรง และสมัครใจเข้าไปบำบัดเองด้วย
ผู้ถูกกระทำมีหน้าที่รับผิดชอบตัวเอง
นายเดวิด นูเจนท์ ชายชาวออสเตรเลียที่ยอมรับว่าเคยมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงในครอบครัว และได้รับการบำบัด จนตัดสินใจตั้งโปรแกรม Heavy M.E.T.A.L. เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง และสิ่งที่คนมักเข้าใจผิด คือ การเชื่อว่าคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงได้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องสงสารพวกเขา แต่แปลว่าพวกเขาจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง
นูเจนท์กล่าวว่า ปัญหาหลักที่ทุกคนควรเข้าใจเรื่องอำนาจ การควบคุม และความเสียหาย เพราะหลายคนที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้เข้าไปบำบัด เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพวกใช้ความรุนแรง แต่นักจิตวิทยาจำเป็นต้องช่วยชี้แนะให้พวกเขาเข้าใจเรื่องอำนาจ การควบคุม และการจัดการอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก
เรียนรู้วิธีการสื่อสาร
ด้าน รศ.จูเลีย แบบค็อก จากคณะจิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฮูสตันและผู้อำนวยการร่วมศูนย์สำหรับคู่รักก็สรุปผลวิจัยออกมาในทิศทางเดียวกันว่าหลายคนไม่เคยรู้วิธีการสื่อสารที่ดี โดยเธอเคยทำทดลองเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมรุนแรงในระดับจิตวิทยา และนักวิจัยจะเข้าไปแทรกการทะเลาะเบาะแว้งกันในช่วงกลาง แล้วสั่งให้ผู้ที่เคยใช้ความรุนแรงทำ 1 ใน 3 ข้อต่อไปนี้
1. ขอเวลานอกสำหรับทั้งคู่
2. พยายามไม่ใช้คำเชิงลบในการพูดถึงเรื่องที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
3. ยอมรับฟังความคิดของอีกฝ่าย แม้เขาจะมองต่างออกไป หรือเชื่อว่าอีกฝ่ายอาจพูดถูก
การเข้าไปแทรกระหว่างการทะเลาะกัน ทำให้การเถียงกันช่วงครึ่งหลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะผู้ที่เคยใช้ความรุนแรงได้เรียนรู้ทักษะในการสื่อสารมากขึ้น ลดการโจมตีที่รุนแรงลงได้
เปลี่ยนค่านิยมของสังคม
นูเจนท์กล่าวว่า ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมกำหนดบทบาทให้ผู้ชายต้องเป็นคนเข้มแข็ง เก็บกดความรู้สึกของตัวเอง ไม่ให้ร้องไห้ ไม่ให้แสดงความกลัวหรือกังวล และความเก็บกดเหล่านั้นจะเปิดเผยออกมากับคนใกล้ตัว และระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง ขณะเดียวกัน ค่านิยมเดิมๆ ที่มองว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง เป็นหัวหน้าครอบครัว ทุกคนต้องอยู่ในโอวาท ก็ทำให้พวกเขารู้สึกมีอำนาจ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงค่านิยมก็เป็นทางแก้ไขในระยะยาวที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศชายเท่านั้น ผู้หญิงที่ใช้ความรุนแรงกับคู่รักก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็คล้ายกันอีกหลายปัญหาที่มีต้นตอมาจากความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับอำนาจที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ได้เกิดเพศทางกายภาพ หรือค่านิยมเกี่ยวกับเพศเท่านั้น
อ้างอิง: Psychology Today, Science Daily, Huffington Post
Photo by Sydney Sims on Unsplash