นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อาจเร็วเกินไปหากคนไทยจะซื้อมาไว้ใช้เอง เนื่องจากปัญหาของแบตเตอร์รี่ที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้าแบบ Normal Charge นานถึง 8 ชั่วโมง ส่วนระยะทางในการขับขี่ เพียง 100 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ค่อนข้างสั้น
อีกทั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทยขณะนี้ยังมีน้อย ดังนั้น การที่ไทยเพิ่งเริ่มส่งเสริมรถ EV ถือว่าไม่ช้าจนเกินไปหากเทียบกับในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา สามารถขายรถ EV ได้ปีละ 85,000 คัน ขณะที่ตลาดรวมเมื่อปีที่แล้ว (59) อยู่ที่ 17.5 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 0.5 ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน
สำหรับประเทศไทย จะต้องมองภาพรวมความต้องการเป็นหลักก่อน ซึ่งอาจต้องใช้ระบบผสมผสานกันระหว่างเชื้อเพลิง ระบบไฟฟ้า และไฮบริด หากไทยยกเลิกเครื่องยนต์เผาไหม้ทั้งหมดโดยทันที ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลทางการเกษตรที่นำมาใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรม มองว่า กว่าที่รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมในไทย อาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้า ประกอบกับ ราคาที่ค่อนข้างสูง เฉลี่ยคันละ 2-3 ล้านบาท มีระยะการวิ่งได้ไม่ไกล แค่ 200-300 กิโลเมตร รวมทั้งความกังวลเรื่องการกำจัดกากอุตสาหกรรมจากแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ มองว่า ประเทศไทยต้องหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง จึงจะมีความสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ เนื่องจากรายได้ของคนไทย เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 5,800 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องเพิ่มเป็นกว่า 12,000 ดอลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ดังนั้น ในระยะเปลี่ยนผ่าน จะมีรถยนต์ไฮบริดที่เข้ามาทำตลาดในไทย เป็นทางเลือกสำหรับประชาชน ซึ่งปัจจุบัน มียอดจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพียง 8 หมื่นคัน
ขณะที่ นายทาเคชิ อุชิยามาดะ (Takeshi Uchiyamada) กรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asian Review ระบุว่า หากรถยนต์ไฟฟ้า มาเร็วเกินไป ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่จะเจ๊งกันหลายราย ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ อย่าง โตโยต้า เนื่องจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละราย ต้องหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นหลายเท่า เช่น รถยนต์พริอุส ที่เป็นปลั๊กอิน-ไฮบริด การผลิตแบตเตอรี่ใน พริอุส ต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ในรถยนต์ทั่วไป แต่แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า ต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าเมื่อเทียบกับการผลิตแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฮบริด
ซึ่ง พริอุส ใช้เวลาพัฒนานานถึง 20 ปี กว่าจะมาถึงจุดนี้ ฉะนั้นที่บอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะครองตลาด ร้อยละ 30 ในปี 2030 (2573) จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรืออาจต้องขึ้นอยู่กับการผ่อนปรนข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่ส่วนตัว มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะแจ้งเกิดจริงๆ คือ นับตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป