ไม่พบผลการค้นหา
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าเผยมีผู้นำเข้าแท็กซี่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากจีน 500 คัน มาให้บริการในไทย ชี้ปัจจุบันในประเทศใช้รถยนต์ไฟฟ้า 0.1% เทียบทั้งโลกมี 1% ตั้งเป้าปีนี้ตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครบ 150 จุด จาก 21 จุดในปัจจุบัน

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และล่าสุดมีเอกชนสนใจลงทุนผลิตยานยนต์ประเภทนี้ รวมถึงมีบริษัท RIZEN ENERGY นำเข้ารถแท็กซี่อีวีแบรนด์ BYD จากจีนมาทำตลาดในประเทศในปีนี้จำนวน 500 คัน

ในอีกด้านหนึ่ง ภาครัฐได้มีมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ให้สิทธิพิเศษทางภาษีหากขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทั้งในฝั่งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และผู้จัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งทำให้คาดว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ น่าจะได้เห็นความชัดเจนว่าจะมีเอกชนรายใดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทั้งในแบบยานยนต์ไฮบริดและปลั๊กอิน ไฮบริด และหวังว่า เมื่อมีการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาของยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะถูกลงได้

สถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้า

"การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปัจจุบันมีประมาณปีละ 80 ล้านคัน แต่ยอดขายมีเฉลี่ยเพียงปีละ 6-7 แสนคัน แสดงว่ายังไม่ถึง 1% ของตลาด สะท้อนว่า ตอนนี้เรายังอยู่ที่จุดเริ่มต้นของทั้งโลก ส่วนประเทศไทยเราก็เดินตามกระแสโลก ถือว่าไม่ได้ช้าหรือตกเทรนด์ แม้ว่าปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยมีเพียง 0.1% ของจำนวนยานยนต์ที่ใช้กันทั้งประเทศก็ตาม" นายยศพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ charging station สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดยมีเป้าหมายภายในปี 2561 นี้ มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 150 หัวจ่าย จากที่ผ่านมาตั้งเดือนตุลาคม 2559- กันยายน 2560 ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจจัดตั้งสถานีฯ รวมแล้ว 4 รอบ จำนวน 94 หัวจ่าย แบ่งเป็น แบบธรรมดา (normal charge) 60 หัวจ่าย (ใช้เวลาชาร์จ 1-2 ชั่วโมง) แบบเร่งด่วน (quick charge) จำนวน 34 หัวจ่าย (ใช้เวลาชาร์จ 15-20 นาที) 

สำหรับปีนี้ ได้ประกาศรับสมัครอีกครั้งในวันที่ 1 -30 มีนาคม 2561 เป็นรอบที่ 5 จำนวน 31 หัวจ่าย พร้อมกับมีเงินช่วยเหลือสนับสนุน แบ่งเป็นสำหรับหน่วยงานราชการ จะได้เงินสนับสนุนรวมค่าติดตั้ง กรณีสถานีแบบ Quick Charge 1.8 ล้านบาท กรณี Normal Charge 1.9 แสนบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจ Quick Charge 1 ล้านบาท และภาคเอกชน ได้รับการสนับสนุน 30% ของราคาค่าหัวจ่ายประเภท Quick Charge

ยศพงษ์ ลออนวล.jpg

ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า

"ปัจจุบันราคาหัวจ่ายไฟฟ้า กรณีหัวจ่ายแบบควิกชาร์จ ราคากลางอยู่ที่หัวละ 1 ล้านบาท ส่วนแบบธรรมดาที่มีกำลัง 22 กิโลวัตต์ ราคากลางอยู่ที่ 1 แสนบาท ดังนั้น สำหรับเอกชนที่สนใจตั้งสถานีก็จะได้รับการสนับสนุนกรณีหัวจ่ายแบบควิก ชาร์จประมาณหัวละ 3 แสนบาท" นายยศพงษ์ กล่าว

ส่วนราคาค่าเติมไฟฟ้าที่สถานีชาร์จต่างๆ ปัจจุบัน ราคาขายปลีกเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นราคาเสรีไม่มีกำหนดขั้นสูงขั้นต่ำ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ได้มีมติกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก ซึ่งเป็นโครงการนำร่องและเป็นอัตราค่าไฟฟ้าชั่วคราว โดยมีค่าพลังงานไฟฟ้าในช่วงพีคประมาณ 4.10 -4.32 บาทต่อหน่วย (ตามแต่ขนาดแรงดัน) และช่วงออฟพีคประมาณ 2.58-2.63 บาทต่อหน่วย (ตามแต่ขนาดแรงดัน)

มีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนเมืองไทยปัจจุบัน 1.13 หมื่นคัน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 หรือ อีก 18 ปีข้างหน้า ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ จากปัจจุุบันประเทศไทยมียานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 103,702 คัน แบ่งเป็น ยานยนต์ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบไฮบริด 92,308 ตัน ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน ไฮบริด 10,000 คัน และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 1,394 คัน 

ดังนั้น เพื่อรองรับจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต กระทรวงพลังงานจึงเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการวิจัยแบตเตอรี่ สนับสนุนการนำร่องยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภค การเตรียมความพร้อมด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า (charging station) เป็นต้น 

ทวารัฐ สูตะบุตร.jpg

ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

"ในเร็วๆ นี้ ยังต้องการสนับสนุนให้เกิดการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล เป็นดิจิทัล เพย์เมนต์ ตามจุดชาร์จไฟฟ้าในที่ต่างๆ ด้วย จากปัจจุบันมีบัตรเติมไฟที่ออกให้บริการบ้างแล้ว" นายทวารัฐกล่าว 

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งสิ้น 229 หัวจ่าย แบ่งเป็น เอกชนลงทุน 121 หัวจ่าย ภาครัฐลงทุน 108 หัวจ่าย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง 94 หัวจ่ายในโครงการสนับสนุนการลงทุนตั้งสถานีชาร์จ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยด้วย