ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2017 เป็นอีกปีที่โซเชียลมีเดียแสดงพลังในสังคมโลกอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากมีการขยายความยาวตัวอักษรในทวิตเตอร์ให้ยาวเป็น 2 เท่า สื่อสารได้ชัดเจนและละเอียดขึ้น แฮชแท็กยอดฮิตในโซเชียลมีเดียในปีนี้จึงสะท้อนประเด็นร้อนทั้งทางการเมืองและสังคมอย่างถึงแก่น

#MeToo

แฮชแท็กที่มีผู้ใช้มากที่สุดของปีนี้ก็คือ #MeToo หรือ "ฉันด้วย" ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2007 แต่กลับมาได้รับความนิยมแพร่หลายหลังจากนักแสดงหญิงหลายคนออกมาเปิดเผยเรื่องที่ถูกฮาร์วี ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์คนดังของฮอลลีวูด ล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ โดยอลิสสา มิลาโน หนึ่งในนักแสดงที่ถูกไวน์สตีนล่วงละเมิด เรียกร้องให้ผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศกล้าเปิดเผยตัว เพื่อให้โลกตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ โดยการติด #MeToo ปรากฏว่าในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา มีการใช้แฮชแท็กนี้ถึง 6 ล้านครั้งทั่วโลก และทำให้นิตยสารไทม์ ยกย่องให้ "ผู้ทำลายความเงียบ" หรือผู้ที่กล้าเปิดเผยตัวว่าถูกละเมิดทางเพศ เป็นบุคคลแห่งปีประจำปี 2017

000_SZ3MF.jpg

ผู้ประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและสีผิวในสหรัฐฯใช้ #TakeAKnee และการคุกเข่า เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง

#TakeAKnee

อีกแฮชแท็กที่โด่งดังและกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม คือ #TakeAKnee หรือ "คุกเข่าลง" แฮชแท็กนี้ใช้อธิบายเหตุการณ์ที่ผู้เล่นอเมริกันฟุตบอล NFL คุกเข่าในระหว่างการเคารพธงชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมทางเชื้อชาติและสีผิวในสหรัฐฯ ซึ่งธรรมเนียมนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2016 โดยคอลิน แคร์เปอร์นิก หนึ่งในผู้เล่น NFL ที่ต้องการเรียกร้องให้ตำรวจอเมริกันยุติการเลือกปฏิบัติทางสีผิว อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวประณามการที่ผู้เล่น NFL จำนวนมากคุกเข่าระหว่างเพลงชาติ และเรียกร้องให้เจ้าของทีมใน NFL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนกับเขา ไล่นักบอลที่มีความประพฤติเช่นนี้ออกจากทีม ภายในเวลาเพียง 3 วันหลังจากการประกาศของทรัมป์ มีผู้ติดแฮชแท็ก #TakeAKnee มากกว่า 1.2 ล้านครั้ง เพื่อร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและสีผิว

#ILoveYouChina

ส่วนในฝั่งเอเชีย #ILoveYouChina หรือ "ฉันรักเธอ ประเทศจีน" เป็นแฮชแท็กยอดฮิต เมื่อในเดือนตุลาคม ซึ่งมีการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจีนออกแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ ปล่อยวีดีโอเพลง "I love you, China" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ "Hearts for the Motherland" ซึ่งเนื้อหาของเรื่องเล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องต่อสู้กับอคติในสังคมจีน จากการเป็นคนที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นจีนโพ้นทะเล เพลงและหนังเรื่องนี้จึงสะท้อนสารจากรัฐบาลจีน ที่ต้องการให้คนจีนทั่วทุกมุมโลก กล้าที่จะจงรักภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ทันทีที่วีดีโอเพลงนี้ถูกปล่อยออกสู่โลกออนไลน์ ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันชาติจีน ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม และภายใน 2 สัปดาห์ ก็มีการติด #ILoveYouChina กว่า 2 ล้านครั้ง ถือเป็นหนึ่งในแคมเปญที่ช่วยกระชับอำนาจและเพิ่มความนิยมในรัฐบาลของนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน