ปีงบประมาณ 2561 กำลังจะหมดลงสิ้นเดือนกันยายน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ เปิดใจกับทีมงาน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ว่าหอศิลปฯ ไม่ได้งบประมาณมาบริหารจัดการเอง ปีก่อนงบประมาณส่วนหนึ่งอยู่กับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งจัดสรรมา 40 ล้านบาท จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟให้ 9 เดือน และปัจจุบันหยุดจ่ายแล้ว ทั้งที่ความจริงนอกเหนือจากค่าน้ำค่าไฟ หอศิลปฯ ต้องแบกรับภาระจ่ายให้จ่ายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปี 2561 วิกฤตหนักมาก
ทว่า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป กำลังก้าวเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตขั้นสูงสุด เพราะปราศจากงบประมาณจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เข้ามายังหอศิลปฯ แต่ตัวผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตรพยายามมองโลกในแง่ดีว่า งบประมาณที่ใช้ไม่หมดปกติสามารถยกไปปีถัดๆ ไปได้
“ผมยังพยายามองโลกในแง่ดีว่า เขาจะกันงบไว้ให้หอศิลปฯ สำหรับปีหน้า ขั้นตอนที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การสรรหากรรมการมูลนิธิฯ พอเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องคุยกันเรื่องการแก้ไขสัญญา ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทางสภา กทม. ติงมาว่า สัญญาบางข้อมีเนื้อความขัดกับหลักเกณฑ์การให้งบประมาณสนับสนุนของราชการ แต่ทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ไม่ได้ดำเนินงานต่อ ถ้าสรรหากรรมการมูลนิธิฯ เรียบร้อย แล้วคุยกับสภา กทม. เรื่องแก้รายละเอียดสัญญา ทางหอศิลปฯ ถึงจะได้รับงบประมาณสนับสนุน”
ผู้อำนวยการหอศิลปฯ เล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทางหอศิลปฯ ได้ส่งจดหมายถึงท่านผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพื่อขอพิจารณากับงบประมาณที่เหลือจากปี 2561 สำรองไว้ในปี 2562 เพื่อรอแก้รายละเอียดสัญญาแล้วสามารถนำงบประมาณมาช่วยเหลือกัน แต่กลับไม่ได้รับสัญญาณคำตอบกลับมา ทั้งๆ ที่เหลือเวลาน้อยมากแล้ว ซึ่งจากการคาดการณ์แล้วกรณีดังกล่าวคงต้องใช้เวลานานหลายเดือน
อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ 26 กันยายน 2561 เวลา 13.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 ทางหอศิลปฯ ประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมกันสวมชุดดำแสดงพลังรักษาพื้นที่เรียนรู้ผ่านศิลปะ เพื่อให้ประชาชนทุกคนเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อฝ่ายใดบ้าง
“เทศกาลบางกอกเบียนนาเล่รับผลกระทบตรงๆ ซึ่งอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ จะมาร่วมแถลงข่าวด้วย รวมถึงผลกระทบต่อเทศกาลละครกรุงเทพ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายน แต่ทั้ง 2 เทศกาลต้องเกิดขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม The Show Must Go On! เพราะผมเป็นคนเรียนมาทางด้านศิลปะ แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์อะไรก็ตาม แต่สุดท้ายผมต้องทำให้การแสดงเกิดขึ้นให้ได้”
หลังจาก ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ทำการสัมภาษณ์ผู้อำนายการหอศิลปฯ กทม. ไปเมื่อ 5 เดือนก่อน กรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดเปลี่ยนพื้นศิลปะเป็นแหล่งเรียนรู้แบบโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งต้องการยกอำนาจการบริหารหอศิลปฯ กทม. ให้ทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เข้ามาบริหารจัดการแทน
แม้สถานการณ์ศึกใหญ่ในสายตาคนนอกดูเหมือนสงบลง ทาง กทม. ไม่เข้ามาก้าวก่ายแล้ว ทว่าผู้อำนวยการหอศิลปฯ กลับยืนยันชัดว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นหลายคนคิด
“เมื่อทาง กทม. ไม่เข้ามายุ่งแล้วไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจบ แต่กลับกลายเป็นไม่สน ไม่สนับสนุนกันอีกเลย จึงกลายเป็นปัญหา ตอนที่หลายๆ ฝ่ายฉลองกันเรื่อง กทม. ไม่ยุ่งแล้ว ผมไม่ได้ฉลองนะครับ เพราะผมทราบอยู่แล้วว่า ทางหอศิลปฯ ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่ ดังนั้น ผมอยากเรียนเชิญประชาชนทั่วไปมารับทราบปัญหาแท้จริง และสถานการณ์ความไม่ปกติ พร้อมกับช่วยกันออกไอเดียการแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ”
ส่วนเรื่องมาตราการรัดเข็มขัดตามสื่อต่างๆ ผู้อำนวยการหอศิลปฯ ระบุว่า เป็นสิ่งที่วางแผนจะดำเนินการ แต่บางสิ่งก็ทำไปแล้ว เช่น การปรับลดกิจกรรม และนิทรรศการศิลปะ ส่งผลให้ปีหน้าชั้นนิทรรศการจะว่างตลอด 2 เดือน ทั้งๆ หลังจากหอศิลปฯ เซ็นสัญญากับกทม. เมื่อปี 2554 กิจกรรมเนืองแน่นมาตลอด โดยผู้อำนวยการผู้มองโลกในแง่ดีให้ข้อมูลว่า ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกันปีก่อนๆ ยอดผู้เข้าชมสูงกว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกันเรื่องการปรับลดพนักงานเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายเป็นกังวล แต่ผู้อำนวยการหอศิลปฯ ให้คำมั่นว่า ทางมูลนิธิหอศิลปฯ ไม่ใช้นโยบายเลย์ออฟพนักงานแน่นอน
“เรื่องพนักงานเป็นความรับผิดชอบของผมครับ ซึ่งผมไม่ปรับลดแน่นอน ผมเห็นทุกคนทำงานกันหนักมาก ทำงานกันเต็มที่ ดังนั้น ผมใช้หลักออก 2 รับ 1 ถ้าใครจะลาออกด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม ส่วนตัวผมไม่ใช้นโยบายเลย์ออฟพนักงานอยู่แล้ว เพราะคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนถ้าเกิดว่าหน่วยงานอื่นๆ ที่มีงบประมาณเหลือ และสามารถสนับสนุนหอศิลปฯ ได้ หรือประชาชนทั่วไปทางหอศิลปฯ ก็ยินดีรับความช่วยเหลือครับ” ผู้อำนวยการหอศิลปฯ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: